CLIVE ชี้ ความขัดข้องภาคพื้นดินส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศ เม.ย. 2022

0
560
Mr. Niall van de Wouw

CLIVE Data Services (CLIVE) เปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์สภาพตลาดอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศในเดือนมีนาคมยังคงส่งผลต่อเนื่องในเดือนเมษายน โดยมียอดปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศลดลง 8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกันในปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราค่าระวางการขนส่งทางอากาศยังคงปรับสูงขึ้นแม้ว่าจะเริ่มมองเห็นทิศทางการขยายตัวของระวางการให้บริการในตลาด โดยอ้างอิงจากตารางการให้บริการช่วงฤดูร้อนของสายการบินต่างๆ ที่มีการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย มาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของจีน และการปรับสูงขึ้นของค่าครองชีพล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากรปฏิบัติงานยกขนสินค้าภาคพื้นในท่าอากาศยาน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งส่งผลให้ปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศของเดือนเมษายนลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดระดับโลก

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา CLIVE ระบุอัตรา ‘Dynamic Load Factor’ ลดลงมาอยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของระวางการบริการที่เพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราโหลดแฟกเตอร์ดังกล่าวยังคงทรงตัวเท่ากับในช่วงเดือนเมษายนของช่วงก่อนวิกฤตโรคระบาดในปี 2019 โดยถึงแม้ว่าปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศของเดือนมีนาคม 2022 จะลดลง แต่ก็ไม่ส่งผลให้อัตราค่าระวางขนส่งสินค้าของเดือนเมษายนลดลงตามไปด้วย โดยอัตราค่าระวางขนส่งสินค้าของเดือนเมษายน 2022 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 26 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเมษายนปี 2021 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2019 ถึง 145 เปอร์เซ็นต์

“ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราโหลดแฟกเตอร์ที่ลดลงและอัตราค่าบริการที่สูงขึ้นคือปัญหาคอขวดในปฏิบัติการภาคพื้น ซึ่งเกิดจากการขาดแคลนบุคลากรยกขนสินค้าในท่าอากาศยานทั่วโลก และการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกที่จำเป็นในการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างรุนแรง รวมไปถึงภาวะการขาดแคลนบุคลากรระดับปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในภาพรวมด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วทั้งซัพพลายเชน” Mr. Niall van de Wouw ผู้ก่อตั้ง CLIVE และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ บริษัท Xeneta กล่าว

Mr. van de Wouw ยังเสริมอีกว่า การขาดแคลนสินค้าในร้านค้าหรือที่จัดจำหน่ายออนไลน์ ระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่ยาวนานขึ้นในบางผลิตภัณฑ์ ต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น และการล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวบิน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดจากภาวะตลาด ต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นและรายได้ที่ลดลงของผู้บริโภคก็มีส่วนต่อการชะลอตัวของปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศด้วยเช่นกัน

‘Dynamic Load Factor’ เป็นอัตราโหลดแฟกเตอร์ (สัดส่วนปริมาณสินค้าต่อระวางสินค้า) ที่พัฒนาสูตรการคำนวณโดย CLIVE ในการนำทั้งปริมาตรและน้ำหนักของสินค้ามาใช้ในการคำนวณ โดยพิจารณาร่วมกับอัตราการหมุนเวียนของสินค้าและระวางการบริการ

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา CLIVE ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Xeneta ผู้ให้บริการเปรียบเทียบเกณฑ์อัตราค่าระวางมาตรฐานชั้นนำสำหรับทั้งการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ รวมไปถึงแพลตฟอร์มการวิเคราะห์สภาวะตลาดและดัชนีการขนส่งตู้สินค้า เพื่อมอบข้อมูลเชิงลึกสำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางอากาศที่มีความครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Lufthansa Cargo จับมือ Kuehne+Nagel ผลักดันเทคโนโลยีเชื้อเพลิง Power-to-Liquid
บทความถัดไปCEVA Logistics ขยายสัญญาโลจิสติกส์กับ Sephora ในบราซิล
Thanathas Akkhachotkawanich
Bangkok grew, Australian aged, Silicon Valley matured, this aspiring writer adds flavor to our team with his aspiring smile and quill-tip talents.