หลายคนอาจไม่ทราบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในโลเคชั่นการถ่ายทำที่ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยทิวทัศน์ที่งดงามและสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ รายได้เฉลี่ยที่ประเทศไทยได้รับจากอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าสูงกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทำภาพยนตร์ทุกเรื่องอาจไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี หากขาดทีมงานสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพและพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกระบวนการโลจิสติกส์ที่ดีเยี่ยม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น

นิตยสาร AFL ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องราวเบื้องลึกและเบื้องหลังงานโลจิสติกส์ขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ จากผู้ให้บริการมืออาชีพอย่าง Trans Air Cargo โดยได้รับเกียรติจากคุณสุวิชา บุญเต็ม ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ สาขา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในอุตสาหกรรมกว่า 30 ปี ให้กับผู้อ่านทุกท่าน

A Story of Triumph

Trans Air Cargo (TAC) ให้บริการบรรทุกและขนส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 1979 และเริ่มปฏิบัติการขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ในปี 1989 โดยเริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Good Morning Vietnam’ เป็นเรื่องแรก และภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยรายได้กว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการนำและสนับสนุนจาก คุณคีรี ชัยชนะวงค์ และ คุณศิริ วรพงศธร ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญและการเจริญเติบโตของวงการภาพยนตร์ในอนาคต

คุณสุวิชา บุญเต็ม ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ สาขา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

คุณสุวิชา ได้กล่าวถึงความท้าทายในการขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ในช่วงแรกเริ่มว่า “ช่วงเวลานั้น การดำเนินงานค่อนข้างมีความซับซ้อน เนื่องด้วยระเบียบของศุลกากรที่เข้มงวด มีมูลค่าการวางเงินประกันที่สูง กอปรกับเราเองก็ยังไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ถ่ายทำฯ การดำเนินงานในช่วงแรกจึงเป็นลักษณะ Learning by Doing” อย่างไรก็ตาม เพียงไม่นาน TAC ก็สามารถสร้างชื่อเสียงจนกระทั่งได้รับการยอมรับจากกองถ่ายภาพยนตร์ระดับ Hollywood ภายในระยะเวลาเพียง 3 – 4 ปี ด้วยความรู้ที่เพิ่มพูนจากประสบการณ์ดำเนินงานในด้านนี้ โดยเฉพาะการจัดการดูแลกล้องถ่ายภาพยนตร์และอุปกรณ์เครื่องเสียง รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในกองถ่าย

ในยุคสมัยที่การถ่ายทำภาพยนตร์ยังเป็นแบบ Analog แน่นอนว่าสิ่งที่มาคู่กับภาพยนตร์คือม้วนฟิล์ม (Film stock) และการขนส่งม้วนฟิล์มนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการขนส่งแต่ละครั้งจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องลิขสิทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น ม้วนฟิล์มจะต้องไม่ผ่านการ X-Ray เพราะจะทำให้ม้วนฟิล์มเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ โดยคุณสุวิชา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การดูแลจัดการม้วนฟิล์มนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ แต่บริษัทเราก็มีความชำนาญในเรื่องนี้อย่างมาก โดยเราได้ขอยกเว้นการตรวจสอบแบบ X-ray และได้รับการรับรองให้ตรวจสินค้าโดยใช้ถุงดำ (black bag) หรือการตรวจสอบโดยกายภาพ และมี film crew เป็นผู้ดูแลขนส่งม้วนฟิล์มด้วยวิธีการถือติดตัวขึ้นเครื่องบิน” ด้วยเหตุนี้ TAC จึงได้รับความไว้วางใจจากผู้สร้างภาพยนตร์ให้ดูแลจัดการขนส่งม้วนฟิล์ม ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในธุรกิจนี้

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเป็นยอมรับอย่างกว้างขวางคือ ความชำนาญในการทำสัญญา A.T.A. Carnet ซึ่งเป็นเอกสารนำเข้า – ส่งออกสินค้าชั่วคราว แทนใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออก และเป็นเอกสารค้ำประกันค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามาชั่วคราวโดยได้รับการยกเว้นอากรภายใต้อนุสัญญาฯ ดังนั้น การขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ระหว่างประเทศจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินวางประกันจำนวนมาก ซึ่งช่วยสนับสนุนการดำเนินงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

Success through the Ages

เมื่อมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านของวงการถ่ายทำภาพยนตร์แบบ Analog ไปสู่ยุค Digital ผู้ชมสามารถเข้าถึงความบันเทิงได้อย่างง่ายดายบนโลกออนไลน์ โดยผ่านแพล็ตฟอร์มผู้ให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโออย่างเช่น Netflix เหตุการณ์นี้ ส่งผลให้การถ่ายทำภาพยนตร์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากผู้ผลิตผลงานไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบันทึกภาพด้วยม้วนฟิล์มอีกต่อไป การขนส่งม้วนฟิล์มซึ่งถือเป็นธุรกิจสำคัญอย่างหนึ่งของ TAC จึงสิ้นสุดลงไปโดยปริยาย แต่ยังมีความต่อเนื่องในการขนส่งในระบบเครื่องบันทึกข้อมูลแทน  

อย่างไรก็ตาม TAC ก็ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำฯ ตามจำนวนภาพยนตร์ที่มีการสร้างเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เนื่องด้วยความชำนาญในการดูแลจัดการอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ที่อาจกล่าวได้ว่า Trans Air Cargo สามารถทำในสิ่งที่ผู้ให้บริการเจ้าอื่นไม่สามารถมอบให้ลูกค้าได้ โดยคุณสุวิชา ได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ว่า

“ถ้าเราจะต้องดูแลสินค้าสักอย่างหนึ่ง เราต้องรู้ถึงข้อมูลพื้นฐานของสินค้านั้นๆ เพื่อใช้วางแผนสำหรับจัดการกับอุปกรณ์เหล่านี้ และนำข้อมูลไปแลกเปลี่ยนกับกองถ่ายว่า เราต้องทำอะไรบ้างและมีสิ่งใดที่เราไม่ควรทำ”

ในส่วนของการขนส่งอุปกรณ์กล้องถ่ายทำ โดยส่วนใหญ่แล้วกล้องจะถูกบรรจุอยู่ในกล่องอะลูมิเนียมและบุด้วยไฟเบอร์กลาส ซึ่งด้านในจะมีโฟมหุ้มไว้สำหรับรองรับแรงกระแทก ทั้งนี้ สินค้าจะต้องได้รับการตรวจสอบและบันทึกภาพทุกครั้งก่อนการบรรจุเสมอ โดยเมื่ออุปกรณ์ทั้งหมดมาถึงที่หมาย บริษัทฯ จะแยกประเภทสินค้าตามสัญญา A.T.A. Carnet และจัดวางอุปกรณ์ตามประเภทการใช้งานที่กองถ่ายภาพยนตร์กำหนดไว้ พร้อมบันทึกภาพสินค้าที่จัดวางเรียบร้อยแล้วเพื่อรายงานความคืบหน้าในการขนส่งและยืนยันว่าอุปกรณ์ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และครบถ้วน

นอกจากนี้ การขนส่งอุปกรณ์การถ่ายทำแต่ละครั้ง ไม่ได้มีเพียงอุปกรณ์กล้องดิจิตอลหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ต้องได้รับความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่การจัดการเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์ประกอบฉากอย่างเช่น อาวุธ ก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมาก “สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการดำเนินการขนส่งอุปกรณ์ประเภทอาวุธและวัตถุระเบิดก็คือ เราต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายของประเทศอย่างเคร่งครัด และต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายความมั่นคงของแต่ละประเทศด้วย เพราะอุปกรณ์ประกอบฉากแม้กระทั่งปืนยางก็ต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง เนื่องจากวัตถุเหล่านี้ดูเสมือนจริงมาก และอาจก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายต่อสาธารณชนได้ หากไม่ได้รับการดูแลจัดการอย่างรอบคอบ” คุณสุวิชากล่าว

True Experts

หากจะยกตัวอย่างถึงความสามารถในการขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ของ Trans Air Cargo การให้บริการขนส่งอุปกรณ์แก่กองถ่ายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องหนึ่งที่ต้องใช้อุปกรณ์การถ่ายทำ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉาก มากกว่า 300 ตัน  ในการถ่ายทำถือเป็นผลงานที่บริษัทฯ ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ใช้บริการอย่างมาก เนื่องจากสินค้าที่ได้รับมอบหมายนั้นได้รับการนำเข้าและส่งออก ภายในเวลาที่กำหนด และทันต่อการถ่ายทำภาพยนตร์

อีกหนึ่งความสามารถที่โดดเด่นของบริษัทฯ ที่ได้รับการพิสูจน์จากผลงานนี้คือ การบรรจุสินค้าและการคำนวณพื้นที่ระวางอย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ เนื่องจาก ในการบรรทุกสินค้าทั้งทางอากาศและทางเรือแต่ละครั้งต้องมีการคำนวณน้ำหนัก และระวางบรรทุกอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้สินค้าได้รับความเสียหายขณะเคลื่อนย้าย อีกทั้งยังต้องค้นหาวิธีที่สามารถขนย้ายสินค้าทั้งหมดให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยคุณสุวิชา ได้กล่าวถึงการทำงานในครั้งนี้ว่า “การทำงานให้กับกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ ค่อนข้างท้าทายอยู่พอสมควร เพราะเราต้องเช่าเหมาลำเครื่องบินในการขนส่ง ซึ่งหมายความว่าเราต้องหาวิธีการให้อุปกรณ์ทั้งหมดสามารถโหลดขึ้นเครื่องให้ได้มากที่สุด โดยเครื่องที่เราทำการเช่ามาคือ IIuyshin 176 และ Antonov124  ซึ่งทั้งเครื่องบินทั้งสองรุ่นสามารถบรรจุน้ำหนักได้มากกว่า 200 ตัน”

ทั้งนี้ ทุกวินาทีในการถ่ายทำภาพยนตร์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก​หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น​ การขนส่งสินค้าโครงการเช่นนี้​ จึงสามารถสร้างความกดดันแก่ผู้ให้บริการได้ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม TAC ก็ไม่เคยทำให้ลูกค้าผิดหวัง โดยภาพยนตร์จาก Hollywood ที่ทำให้บริษัทฯ เป็นที่รู้จักได้เป็นอย่างดีในฐานะผู้ให้บริการขนส่งอุปกรณ์การถ่ายทำที่มีคุณภาพนั้นมีอยู่มากมาย อาทิเช่น  ภาพยนตร์ในแฟรนไชส์ James Bond อย่าง Tomorrow Never Dies ซึ่งผู้จัดการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าว ได้ตัดสินใจเลือกใช้บริการของ Trans Air Cargo จากประวัติการทำงานของบริษัทฯ ทั้งในด้านการขนส่งอุปกรณ์ การดำเนินพิธีการศุลกากร และการทำงานเป็นตัวแทนขนส่งสินค้า ที่ได้รับการรับรองจากบุคคลในวงการว่า “This company never delayed”

“ สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ความตรงต่อเวลา เพราะกองถ่ายภาพยนตร์ทุกกอง ต้องการความเร็ว และมีความตรงต่อเวลาเป็นเงื่อนไขในการทำงาน… เพราะฉะนั้นเวลาที่เราสัญญากับลูกค้าว่าเราสามารถดำเนินงานภายในสามวันได้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ”

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ความตรงต่อเวลา เพราะกองถ่ายภาพยนตร์ทุกกอง ต้องการความเร็ว และมีความตรงต่อเวลาเป็นเงื่อนไขในการทำงาน ถ้าทำงานล่าช้าหรือขาดอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว ทำให้เปิดกองถ่ายฯ ไม่ได้ ลูกค้าก็จะเสียเงินมหาศาล เพราะฉะนั้นเวลาที่เราสัญญากับลูกค้าว่าเราสามารถดำเนินงานภายในสามวันได้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น” คุณสุวิชากล่าว ทั้งนี้ ก่อนการขนส่งอุปกรณ์ทุกครั้ง บริษัทฯ จะวางแผนการดำเนินงานในทุกขั้นตอนเพื่อให้สินค้าทั้งหมดไปถึงจุดหมายตรงเวลาเสมอ ตั้งแต่การคำนวณระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินงานพิธีศุลกากร จนไปถึงการเลือกเส้นทางการเดินทางต่างๆ โดยคุณสุวิชา ยังได้เผยถึงมุมมองในการทำงานเพิ่มเติมว่า “ในเรื่องวิธีการทำงาน เราสร้างทางออกไว้หลายช่องทางเพื่อเป็นตัวเลือกเสมอ เพียงแต่ว่าเราจะใช้ช่องทางไหน ผมสอนพนักงานตลอดว่า ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ให้คิดถึงประตูทางออกอีกทางหนึ่ง เหมือนกับเราเดินทางไปสู่ความสำเร็จ มันไม่มีเพียงทางเดียวที่จะก้าวไปถึงจุดนั้น”

ด้วยประสบการณ์การขนส่งสินค้าของ Trans Air Cargo กว่า 40 ปี ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้บริการขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำภาพภาพยนตร์ชื่อดังมานับไม่ถ้วน อาทิ The Phantom, The Beach, Heaven and Earth, The Bright Shining Lie , The Impossible , The Hangover 2, The Fast and the Furious และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ประสบความสำเร็จในการให้บริการแก่กองถ่ายทำฯ ไปแล้วมากกว่า 100 เรื่อง และบริษัทฯ จะยังคงเดินหน้าเป็นผู้ให้คำปรึกษา และให้คำมั่นต่อลูกค้าในการดำเนินงานขนส่งดีที่สุดให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้5 อันดับโครงการขนส่งดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศที่น่าสนใจในปี 2018
บทความถัดไปศุลกากรดูไบชนะรางวัล EFQM Innovation Platinum Award ชูความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of. The Logistics Industry has now become one of her interests that is leading her towards another step towards furthering her knowledge.