BFS ร่วมมือร่วมใจ ก้าวสู่ความสำเร็จร่วมกัน

0
1944

การที่จะขึ้นเป็นผู้นำได้ต้องอาศัยทั้งความทุ่มเทและความพยายาม โดยต้องมีการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงหรือความเสี่ยงที่รอคอยอยู่เบื้องหลัง

ทั้งนี้ ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา Bangkok Flight Services (BFS) มีการพัฒนาบริษัทอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มปฏิบัติการ โดย BFS ให้บริการครั้งแรกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยการปฏิบัติการที่ทันสมัยและมีการพัฒนาระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ

เพื่อเป็นการรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฯ บริษัท BFS ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่า BFS จะไม่เพียงให้บริการได้ตรงความต้องการของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งมอบบริการได้เหนือกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง ดังนั้น เพื่อให้บริษัทฯ สามารถบรรลุผลความสำเร็จตามความตั้งใจดังกล่าว ฝ่ายบริหารจึงเดินหน้าพัฒนาแนวทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่เสมอ

นิตยสาร AFL มีโอกาสได้พูดคุยกับ Mr. Crispin Morris ผู้อำนวยการฝ่ายระบบและเทคโนโลยีสารสนเทศ (System & Information Technology) เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้าอยู่เสมอ เนื่องจากคุณ Crispin เป็นหนึ่งในบุคลากรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฯ มาโดยตลอด

A Unique Path

สำหรับประวัติการทำงานของคุณ Crispin ค่อนข้างแตกต่างจากบุคลากรที่ปฏิบัติงานในแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศโดยทั่วไป ดังที่คุณ Crispin ได้บอกเล่าประสบการณ์การทำงานของเขาให้ฟังว่า “การเป็นคนอังกฤษที่เติบโตที่ฮ่องกงทำให้ผมมีมุมมองในการมองโลกใบนี้แบบเฉพาะตัว ผมมักสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับรูปแบบการทำงานของโลกใบนี้และกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเลือกฝึกงานในอุตสาหกรรมหนักอย่างอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์ ตอนนั้นที่ฮ่องกงมีการพัฒนาอย่างมาก ถือเป็นความใฝ่ฝันของวิศวกรหลายคน ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะต่างๆ มากมายที่คงหาโอกาสเรียนรู้ได้ยากถ้าเทียบกับการฝึกงานในปัจจุบัน และโชคดีมากที่ตอนนี้ ผมได้มีโอกาสถ่ายทอดทักษะเหล่านั้นให้กับบุคลากรในทีม ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้บางครั้งผมรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่นเพราะผมมีประสบการณ์ทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมเครื่องกลไปจนถึงการบริหารจัดการด้านวิศวกรรม ส่วนตัวแล้ว ผมมีความหลงใหลในด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นทุนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องหลักวิทยาศาสตร์ แต่ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์แขนงนี้ก็เป็นศาสตร์แห่งศิลป์เช่นกัน รวมทั้ง ผมยังคิดว่าตัวเองเป็นคนชอบพูดคุยและทำความเข้าใจผู้อื่น ผมมีความสุขที่ได้นั่งคุย ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะนิสัยที่คุณจะพบได้บ่อยๆ ในคนที่ทำงานในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศ”

จากประสบการณ์การทำงานทั้งหมด ทำให้เรามุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายที่ BFS ตั้งไว้ เพื่อบริการลูกค้าของเราด้วยอุปกรณ์และระบบที่มีประสิทธิภาพทันสมัย

โดยระหว่างที่พูดคุยกับคุณ Crispin เราก็สัมผัสได้ถึงการเป็นคนที่มีความอบอุ่นและความใจกว้าง พร้อมเปิดรับฟังทุกความเห็นของผู้อื่น ด้วยการมีทัศนคติที่เปิดกว้าง ทำให้บุคลากรของ BFS สบายใจและสามารถพูดคุยปรึกษากับคุณ Crispin ได้ในทุกแง่มุม ระหว่างนี้ คุณ Crispin ก็ได้เล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศว่า

“หลังจากฝึกงานจบ ผมโชคดีมากที่ได้ร่วมงานกับการท่าอากาศยานฮ่องกง (Hong Kong Airport Authority) ซึ่งผมได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่มีหน้าที่ดูแลกระเป๋าสัมภาระและระบบรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานแห่งใหม่ ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับรูปแบบการให้บริการภาคพื้นทางอากาศยาน พูดได้ว่า ผมมีโอกาสได้เรียนรู้งานตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการภาคสนามจนถึงการนั่งทำงานในออฟฟิศ และจากการที่มีโอกาสได้ทำงานในทุกภาคส่วนทำให้ผมเข้าใจและมองภาพรวมของธุรกิจนี้ได้กว้างขึ้น ผมเข้าใจและชมเชยการทำงานของฝ่ายปฏิบัติงานทำให้ผมสามารถพูดคุยและรายงานต่อฝ่ายผู้บริหารได้โดยง่าย ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานทั้งหมด ทำให้เรามุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายที่ BFS ตั้งไว้ เพื่อบริการลูกค้าของเราด้วยอุปกรณ์และระบบที่มีประสิทธิภาพทันสมัย”

Upgrades and Maintenance

หลังประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการเป็นเวลาร่วม 12 ปี ทาง BFS เล็งเห็นว่าองค์กรสามารถพัฒนาไปได้อีก โดยการเดินหน้าพัฒนาระบบการให้บริการต่างๆ รวมถึงอาคารคลังสินค้า ปัจจุบันมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การปรับปรุงห้องเก็บสินค้าควบคุมอุณหภูมิ การปรับปรุงระบบทำความเย็นและเครื่องทำความเย็นทั้งระบบ การวางระบบอัตโนมัติอื่นๆ ของอาคาร การติดตั้งระบบสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต (IP phone) การปรับปรุงพื้นที่เก็บตู้ ULD รวมถึงการเปลี่ยนระบบแสงสว่างภายในอาคาร โดยการใช้หลอดไฟแบบ LED ในพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมด เพื่อลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น

ทั้งนี้ การปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย ถือเป็นส่วนสำคัญต่อการปฏิบัติงานในคลังสินค้า ถึงกระนั้นก็มีอีกหนึ่งสิ่งที่คุณ Crispin เชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาคุณภาพการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คุณ Crispin กล่าวว่า “การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน หรือ Preventive Maintenance (PM) เป็นหนึ่งในวิธีการทำงานที่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย การรักษาคุณภาพ และรักษาความน่าเชื่อถือในการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งก็ครอบคลุมในหลายจุด โดยเราปรัปปรุงคุณภาพการทำงานของเครื่องจักรที่ใช้งานมาเป็นเวลานานก่อน ด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีแบบไร้สาย (mobile technology) เข้ามาช่วย ทำให้ทีมช่างซ่อมบำรุงและบุคลากรทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยทั่วกัน เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น การดูแลรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ ให้พร้อมอยู่เสมอ และสามารถทำงานได้ต่อเนื่องโดยไม่สะดุดเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเครื่องจักรของเราทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของการปฏิบัติงานบริเวณข้างเครื่อง เครื่องมือทุกชิ้นและทีมงานทุกคนต้องพร้อมปฏิบัติการทันทีเมื่อเครื่องบินลงจอด”

“อุปกรณ์ในคลังสินค้าทุกชนิดมีความสำคัญในการทำงานอย่างยิ่งและต้องใช้ในการทำงานตลอดเวลา อาทิ ตลับลูกปืน สปริง โซ่ และชิ้นส่วนเครื่องกลทุกประเภทที่ต้องหมั่นตรวจเช็คน้ำมันเครื่องและได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งบางครั้งน้ำมันเครื่องอาจแห้งเนื่องจากอยู่ในสภาพที่มีความชื้นและมีฝุ่น ดังนั้น การซ่อมบำรุงเชิงป้องกันจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุปกรณ์ทุกชิ้นพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เราได้ออกแบบตารางซ่อมบำรุงด้วยการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการหยอดน้ำมันเครื่อง การปรับจูนเครื่องจักร การปรับความตึงของสายพาน และการตรวจสภาพเครื่องจักรตามตารางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด การซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกันทำให้เราสามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นอีกด้วย เช่น ห้องจัดเก็บสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิของเราที่ผมได้ปรับความคิดมาเน้นการประหยัดพลังงาน ทำให้เราควบคุมอุณหภูมิแต่ละห้องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

คุณ Crispin กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่พัฒนามากที่สุดของเราในเรื่องของการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ก็คือ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการ ซึ่งมีการชี้แจงสถานะความพร้อมในการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งระบบ บุคลากรทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลจากระบบหน้าจอเดียว ระบบได้รับการออกแบบให้แสดงข้อมูลอย่างเข้าใจง่ายโดยใช้ระบบโค้ดสีที่แสดงสถานะของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ณ ขณะนั้น เช่น สีเขียวหมายถึงเครื่องจักรนั้นสามารถใช้งานได้ปกติ สีเหลืองหมายถึงเครื่องจักรนั้นยังสามารถปฏิบัติงานได้ แต่มีแนวโน้มที่จะต้องเปลี่ยนอะไหล่ และสีแดงหมายถึงเครื่องจักรนั้นไม่สามารถใช้งานได้ โดยการวางระบบทั้งหมดเป็นส่วนช่วยให้ทีมงานซ่อมบำรุงทราบข้อมูลว่า ภายในคลังสินค้ามีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้ทั้งหมดกี่ชิ้น เนื่องจากข้อมูลในส่วนนี้มีความสำคัญต่อการให้บริการคลังสินค้า เราไม่สามารถทำงานล่าช้าได้เพราะจะส่งผลให้เที่ยวบินล่าช้าไปด้วย ดังนั้น การเตรียมการล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง”

เรามีทีมงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและทีมงานวิศวกรประจำอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ทันท่วงที

ส่วนงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ BFS มีการพัฒนาและก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคุณ Crispin กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายขององค์กรคือหลีกเลี่ยงการว่าจ้างผู้ให้บริการภายนอกมากที่สุด การมีทีมงานประจำอยู่หน้างานเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ BFS สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้รวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งนับว่าเป็นข้อดี เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการภายนอกไม่สามารถทำได้ แต่สำหรับบางกรณีที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทางองค์กรก็เข้าใจและมีการว่าจ้างผู้ให้บริการเฉพาะทางเข้ามาดูแล แต่ส่วนใหญ่แล้ว BFS เชื่อว่า เหตุผลที่ทำให้ประสบความสำเร็จก็คือการร่วมมือกันทำงานของบุคลากรภายในองค์กร โดยเฉพาะช่วงเวลาเช่นปัจจุบัน คุณ Crispin กล่าวว่า “เรามีทีมงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและทีมงานวิศวกรประจำอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ทันท่วงที”

หนึ่งในการพัฒนาล่าสุดของ BFS ก็คือการปรับใช้เทคโนโลยีไร้สายแบบเคลื่อนที่ HHT ในคลังสินค้า โดยคุณ Crispin กล่าวว่า “HHT เป็นอุปกรณ์ไร้สายช่วยให้บุคลากรสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลในระบบจัดการบริหารคลังได้โดยตรง ทุกคนในคลังสินค้าสามารถทราบได้ทันทีว่าสินค้าแต่ละชิ้นจัดเก็บอยู่ส่วนไหนในคลังสินค้าและสามารถเข้าไปหยิบสินค้าได้ทันที เทียบกับในอดีตที่อาศัยการจัดเก็บข้อมูลบนแผ่นกระดาษ ซึ่งมีความแตกต่างในเรื่องของความแม่นยำและความรวดเร็ว”

คุณ Crispin กล่าวว่า “ถ้าเราไม่มีการปรับใช้เทคโนโลยีไร้สายก็คงไม่สามารถเติบโตได้มากถึงขนาดนี้ คุณไม่สามารถทำงานในส่วนนี้ได้โดยเปิดหาข้อมูลบนกระดาษอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณพยายามทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และลดความแออัดของพื้นที่ภายในบริเวณคลังสินค้า คุณต้องมีการวางระบบการทำงานที่เข้มงวด ซึ่งเมื่อปรับมาใช้เทคโนโลยีแบบไร้สายแล้วก็สามารถสแกนเอกสารต่างๆ ของลูกค้าได้ทันที และวางใจได้ว่ารถบรรทุกของลูกค้าอยู่บริเวณเขตพื้นที่คลังสินค้าแล้ว จากนั้นจึงแจ้งเลขประตูคลังสินค้า เมื่อสินค้าพร้อม เราก็ส่งข้อความแจ้งและนำสินค้ามาที่หน้าคลังสินค้า ทำให้ขั้นตอนการทำงานทุกอย่างตรงตามเวลาที่กำหนด การวางระบบเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามารับสินค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”

A New Philosophy

ทั้งนี้ เมื่อเราถามคุณ Crispin เพิ่มเติมว่า ‘ใครบ้างที่เป็นลูกค้าของ BFS’ คุณ Crispin ก็ตอบว่า “ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการ BFS ทุกคนที่อยู่ที่นี่ และทุกคนที่อยากเข้ามาใช้บริการกับเราคือลูกค้าของเรา”

จากความมุ่งมั่นและความพยายามที่ BFS มีมาโดยตลอด เป็นผลให้องค์กรประสบความสำเร็จเฉกเช่นทุกวันนี้ โดยคุณ Crispin กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา BFS มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์นั้นเป็นผลจากความต้องการของลูกค้าในการส่งมอบสินค้าในธุรกิจทุกระดับมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของตนมีความคล่องตัวสูง

โดยเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น การปรับเปลี่ยนแผนการทำงานให้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ช่วยให้ BFS ปฏิบัติการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต BFS จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งใหม่ โดยคุณ Crispin กล่าวว่า ทางองค์กรเริ่มมีสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดและได้รับผลตอบรับอย่างดีจากบุคลากรหลายฝ่าย

การเดินไปข้างหน้าพร้อมกันแบบเป็นทีมแทนที่ต่างคนต่างก้าวไป เราควรร่วมกันก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและร่วมแรงร่วมใจกันอย่างสามัคคี

“สิ่งที่เราพัฒนาในส่วนของทีมงานเทคโนโลยีสารสนเทศและทีมงานฝ่ายอาคารคือ การปรับใช้แนวทางการบริหารจัดการที่ผมเรียนรู้จากโรงเรียนบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นฝึกฝนกันเป็นประจำ แนวคิดการบริหารจัดการดังกล่าวคือ การเดินไปข้างหน้าพร้อมกันแบบเป็นทีมแทนที่ต่างคนต่างก้าวไป เราควรร่วมกันก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและร่วมแรงร่วมใจกันอย่างสามัคคี ซึ่งทั้งผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการคลังสินค้าและตัวผมมีแนวคิดที่ตรงกัน นั่นก็คือ การผลักดันให้ทีมงานเดินไปข้างหน้าร่วมกันแบบพร้อมเพรียงเพื่อประสบความสำเร็จร่วมกัน ไม่มีใครก้าวไปก่อนหรือไม่มีใครโดนทิ้งไว้เบื้องหลัง”

“สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวบุคลากรของเราตั้งแต่เริ่มต้นเหมือนกับทีมผู้จัดการฝ่ายอาคารคลังสินค้า ซึ่งทำให้ผมสามารถคัดเลือกทีมงานและบุคลากร เพื่อสร้างความร่วมมือกับทีมงานที่มีความสามารถหลากหลายได้ รวมทั้งการใช้ทักษะด้านวิศวกรรมของผมในการจัดหาบุคลากรที่เหมาะสมกับงาน ผมพยายามสร้างบรรยากาศการทำงานที่ทุกคนสามารถพูดคุยและร่วมกันแก้ปัญหาได้ ไม่ให้พนักงานรู้สึกกลัวเมื่อต้องการพูดคุย การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการทำงานแบบนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีการสื่อสารภายในองค์กรก็ไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การได้นั่งพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาเป็นทีมทำให้เราสามารถรับมือและจัดการกับปัญหาใหญ่ๆ ได้”

“เหมือนที่เราทำในแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ เราค่อยๆ ตีโจทย์ปัญหาออกมาให้เข้าใจง่ายที่สุด ทำให้สามารถเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างเช่นทุกวันนี้ และถึงแม้ว่าคุณจะสามารถอธิบายถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างดี แต่อันที่จริงแล้วคุณอาจไม่ได้รู้และเข้าใจสิ่งนั้นเลยก็เป็นได้ และนั่นเป็นสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะทำร่วมกันที่นี่ ซึ่งก็คือการมองปัญหาด้วยมุมมองที่เรียบง่ายที่สุดและร่วมมือกันเพื่อให้งานนั้นประสบความสำเร็จ เราทำงานทุกอย่างเป็นทีมและเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กันทีละก้าว”

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

  • แท็ก
  • BFS
บทความก่อนหน้านี้ชมเว็บไซต์โฉมใหม่ของสายการบิน Turkish Cargo
บทความถัดไปไขเบื้องหลังการจัดการขนส่งผลงานศิลปะชิ้นเอกสำหรับนิทรรศการศิลป์ระดับโลก
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way