Boeing ชี้ ความต้องการเครื่องบินขนส่งสินค้าขยายตัวในระยะยาว จากการขยายตัวของซัพพลายเชนและอีคอมเมิร์ซ

0
800

Boeing ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลกได้ทำการเผยแพร่รายงานการคาดการณ์สภาพอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกรายสองปี หรือ ‘World Air Cargo Forecast’ (WACF) โดยสะท้อนถึงผลกระทบของวิกฤต COVID-19 รวมทั้งคาดการณ์ความต้องการใช้งานเครื่องบินขนส่งสินค้าในช่วง 20 ปีข้างหน้า

โดย WACF คาดการณ์ว่าในช่วง 20 ปี ข้างหน้าจะมีความต้องการใช้งานเครื่องบินขนส่งสินค้า 2,430 ลำ แบ่งเป็นเครื่องที่ผลิตขึ้นใหม่ 930 ลำ และเครื่องที่ดัดแปลงจากเครื่องบินโดยสาร 1,500 ลำ โดยความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการค้าโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

จากรายงาน คาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศจะขยายตัวเฉลี่ย 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตลอดช่วง 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกิจกรรมการค้าและการเติบโตของชิปเมนท์บริการขนส่งด่วน อันเกิดจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ โดยภายในปี 2039 คาดว่าฝูงเครื่องบินขนส่งสินค้าทั่วโลกจะขยายตัวขึ้นอีก 60 เปอร์เซ็นต์

“ผู้ปฏิบัติการเครื่องบินขนส่งสินค้าถือว่าอยู่ในสถานะที่มีความพิเศษในปี 2020 นี้ จากความต้องการของตลาดที่ให้ความสำคัญด้านความรวดเร็ว ความน่าเชื่อถือ รวมทั้งความปลอดภัย สำหรับการขนส่งสินค้าทางการแพทย์​รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ให้กับผู้คนและชุมชนทั่วโลก” Mr. Darren Hulst รองประธานฝ่ายการตลาดเชิงพาณิชย์ บริษัท Boeing กล่าว “ในอนาคต คาดว่าเครื่องบินขนส่งสินค้าจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเป็นประเภทอากาศยานที่ขนส่งสินค้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรม และผู้ปฏิบัติการอากาศยานประเภทนี้สามารถสร้างรายได้ถึงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งหมด”

WACF ยังเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการปฏิบัติการขนส่งสินค้าทางอากาศในระหว่างวิกฤตโรคระบาด โดยระบุว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซได้กลายเป็นตัวเร่งการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศ อันเนื่องจากธุรกิจจำนวนมากได้ปรับตัวเข้ามาทำการค้าในรูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยนับจนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้ให้บริการขนส่งด่วนมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องบินโดยสารซึ่งคิดเป็นสัดส่วนระวางการบริการกว่าครึ่งของทั้งอุตสาหกรรมในปี 2019 กลับหดหายไปเกือบหมด ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติการเครื่องบินขนส่งสินค้าต้องปฏิบัติการหนักกว่าระดับปกติ ซึ่งทำให้มีปริมาณสินค้าในการปฏิบัติการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 6 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ในปี 2020 จนถึงปัจจุบัน มีสายการบินประมาณ 200 ราย ที่นำเครื่องบินโดยสารแบบลำตัวกว้างมาใช้ในปฏิบัติการขนส่งสินค้า โดยคิดเป็นจำนวนรวมกันกว่า 2,000 ลำ และในบางรายก็สามารถสร้างผลกำไรได้มากถึงหนึ่งในสี่ของอัตราผลกำไรปกติ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการปฏิบัติการเที่ยวบินโดยสารเลย


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Lufthansa Cargo ต้อนรับเครื่องบิน B777F ลำที่เก้าสู่ Frankfurt
บทความถัดไปCOVAXX มอบหมาย Maersk ขนส่งวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก
Thanathas Akkhachotkawanich
Bangkok grew, Australian aged, Silicon Valley matured, this aspiring writer adds flavor to our team with his aspiring smile and quill-tip talents.