อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ณ ประตูสู่พรมแดนแห่งจักรกล

0
2496

นับตั้งแต่ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยีจักรกลก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจทุกแขนง เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มพูนประสิทธิภาพการดำเนินงานให้แก่ผู้ประกอบการ ล่วงเลยมาถึงทุกวันนี้ เทคโนโลยีได้ก้าวล้ำสู่พรหมแดนใหม่ จักรกลได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ส่งให้อุตสาหกรรมต่างๆ มุ่งหน้าสู่อนาคตอย่างมั่นคง

AFL ขอนำทุกท่านสู่รุ่งอรุณแห่งความก้าวล้ำ พร้อมเทคโนโลยีจักรกลที่ผลักดันศักยภาพและก้าวข้ามขีดจำกัดของซัพพลายเชนอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศปัจจุบัน

Robotics Is the Answer  

แบบสำรวจของ comScore พันธมิตรด้านการวัดผลสื่อดิจิทัลสัญชาติอเมริกัน และผู้ให้บริการขนส่งด่วนและโลจิสติกส์ระดับโลกอย่าง UPS ในปี 2016 เผยว่าผู้บริโภคครึ่งหนึ่ง จากจำนวนทั้งหมด ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยปริมาณดังกล่าวเติบโตขึ้นถึง 4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับในปี 2015

ขณะเดียวกัน ผลวิจัยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของสหราชอาณาจักร ก็เผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 ผู้บริโภคใช้จ่ายเป็นจำนวนกว่าหนึ่งพันล้านปอนด์ หรือประมาณสี่หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์  ผ่านร้านค้าออนไลน์ในสหราชอาณาจักร ซึ่งนับเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่า 20.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2016

ความนิยมของการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และโปรโมชันส่งด่วนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาจำกัดของบริษัทอีคอมเมิร์ซและบริษัทค้าปลีกทั้งหลาย บวกกับวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ที่ผู้คนจำต้องกักตัวภายในที่พำนัก ส่งผลให้ปริมาณความต้องการในบริการขนส่งสินค้าด่วนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล  

ดังนั้น เทคโนโลยีจักรกลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญตลอดทั้งซัพพลายเชนการขนส่งสินค้าทางอากาศ เช่น อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) หรือระบบบริหารจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติ (Warehouse Automation) ในฐานะโซลูชันที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้แก่การดำเนินงานของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเพิ่มความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอ และความปลอดภัยในขั้นตอนการขนส่งสินค้า พร้อมทั้งช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคล ภายใต้ภาวะโรคระบาดอีกด้วย   

Drones

อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน คืออากาศยานที่บังคับจากระยะไกล มีหลากหลายประเภทและหลากหลายขนาด ตามแต่จุดประสงค์การใช้งาน ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอย่างมาก เนื่องจากโดรนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการขนส่งแบบเดิมๆ อาทิ ข้อจำกัดด้านการเข้าถึงพื้นที่ในบริเวณที่คนหรืออากาศยานขนาดใหญ่ทำไม่ได้ เพื่อส่งมอบสินค้าจำเป็นอย่างเภสัชภัณฑ์หรืออาหาร ให้แก่ผู้คนในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยี รวมถึงผู้ให้บริการขนส่งด่วนรายใหญ่ ต่างก็หันมาผลักดันขีดจำกัดด้านเทคโนโลยี และพัฒนาเทคโนโลยีโดรนของตัวเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการสูงสุด และเพื่อความสะดวกสบายของผู้บริโภค 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ Drone Delivery Canada (DDC) ผู้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีโดรนจากประเทศแคนาดา ได้เปิดตัวโดรน Condor ซึ่งมีประสิทธิภาพในการขนสินค้าได้มากถึง 180 กิโลกรัม พร้อมพิสัยการบิน 200 กิโลเมตร ที่ความเร็วปฏิบัติการ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โดรนดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการบรรจุสินค้าได้หลายชิ้นในพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระขนาด 20 ลูกบาศก์ฟุต (0.56 ลูกบาศก์เมตร) โดยบริษัทฯ ได้ทำการทดสอบการบินของโดรน Condor ณ สนามทดสอบ Foremost UAS Test Range รัฐ Alberta ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

พร้อมกันนั้น DDC ยังได้ทำข้อตกลงเชิงพาณิชย์ร่วมกับบริษัท Vision Profile Extrusions Limited (Vision) บริษัทผู้ผลิตชั้นนำ ในการนำระบบการขนส่งสินค้าด้วยโดรนมาใช้งานสำหรับการดำเนินการของบริษัท Vision ในพื้นที่ต่างๆ ในเมือง Vaughan รัฐ Ontario ประเทศแคนาดา

ขณะที่ DB Schenker ผู้ให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก เล็งเห็นโอกาสในการยกระดับการให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์สู่มิติใหม่ และลงทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาเทคโนโลยี Urban Air Mobility (UAM) ซึ่งเป็นพาหนะขนส่งทางอากาศในเขตเมือง ของบริษัท Volocopter เพื่อให้สามารถใช้ในการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมากในเชิงพาณิชย์ได้

อีกฟากหนึ่งของโลก สายการบิน Japan Airlines (JAL) ประสบความสำเร็จในการทดลองขนส่งปลาสดด้วยโดรนจากเมือง Shinkamigoto ไปยังภัตตาคารในกรุงโตเกียว ภายใต้การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของจังหวัด Nagasaki ประเทศญี่ปุ่น

JAL ได้ทำการทดสอบขนส่งสินค้าสดที่บรรจุในกล่องเก็บอุณหภูมิ  เพื่อคงสภาพสินค้าตลอดการเดินทาง จากท่าอากาศยาน Kamigoto ไปยังท่าอากาศยาน Ojika ซึ่งคิดเป็นระยะทาง 46 กิโลเมตร โดยการขนส่งครั้งนี้ นับเป็นการทดสอบขนส่งสินค้าระหว่างท่าอากาศยานท้องถิ่นด้วยโดรนครั้งแรกในญี่ปุ่น

ในด้านบริการจากโดรนที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคแล้ว Wing บริษัทผู้พัฒนาโดรนขนส่งสินค้าในเครือ Alphabet ได้กลายเป็นบริษัทแรกที่มอบบริการขนส่งสินค้าทางโดรนเชิงพาณิชย์ โดยทำการจัดส่งสินค้าซึ่งประกอบไปด้วย ยาสามัญประจำบ้าน ขนมขบเคี้ยวและของเบ็ดเตล็ด ไปยังที่พักอาศัยของผู้บริโภคในเมือง Christiansburg รัฐ Virginia สหรัฐอเมริกา

ในเวลาเดียวกัน Alphabet ก็ยังประสบความสำเร็จกับการทดสอบส่งกาแฟพร้อมดื่มด้วยโดรนให้แก่ผู้คนในย่านชานเมือง Bonython เมือง Canberra ประเทศออสเตรเลีย โดยขณะนี้ คอกาแฟในบริเวณเมือง Canberra สามารถสั่งเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งจะส่งคำสั่งซื้อไปยังร้านค้าท้องถิ่นที่มีชื่อว่า Kickstart Espresso จากนั้น โดรนจะมารับสินค้าเพื่อนำส่งในลำดับต่อไป  

Warehouse Automation

เทคโนโลยีอัตโนมัติ เป็นส่วนประกอบสำคัญภายในศูนย์ปฏิบัติการสินค้าและคลังสินค้าทั่วโลกในปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยผ่อนแรง พร้อมกับเสริมประสิทธิภาพให้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญดำเนินงานได้อย่างแม่นยำ รวดเร็วและปลอดภัย  

โดยในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนการขนส่งสินค้าทางอากาศนั้น ในปี 2016  ผู้ให้บริการขนส่งด่วนชั้นแนวหน้าอย่าง Deutsche Post DHL Group (DHL) ได้ริเริ่มเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติการคลังสินค้า ด้วยแผนการทดสอบใช้งานหุ่นยนต์อัจฉริยะของบริษัทจักรกลอย่าง Rethink Robotics ในคลังสินค้าทั่วทวีปยุโรป

หุ่นยนต์ดังกล่าว มีชื่อว่า Baxter และ Sawyer มาพร้อมแขนจักรกล ติดตั้งด้วยเซนเซอร์วัดแรง ซอฟต์แวร์เรียนรู้และจดจำที่ล้ำสมัย เสริมด้วยหน้าจอที่แสดงลักษณะใบหน้าคล้ายมนุษย์ โดย DHL นำ Baxter และ Sawyer เข้ามาช่วยเหลือบุคลากรในขั้นตอนการห่อสินค้าและการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง

ในช่วงปลายปี  2018 DHL สาขาอเมริกาเหนือ ก็ประกาศวางแผนลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ณ ศูนย์ปฏิบัติการ 350 แห่ง ด้วยเม็ดเงินกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9,414 ล้านบาท

ในปีที่ผ่านมา DHL Supply Chain ผู้นำด้านโซลูชันโลจิสติกส์ ก็ผลักดันศักยภาพในการปฏิบัติการคลังสินค้าด้วยเทคโนโลยีจักรกลไปอีกขั้น ผ่านการเปิดตัวคลังสินค้าระบบบริหารจัดการอัตโนมัติแห่งแรกในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  

โดยคลังสินค้าดังกล่าว เสริมประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และความปลอดภัย ด้วยหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อปฏิบัติการจัดเก็บสินค้า ณ จุดที่กำหนด (Goods-to-Person Storing) หยิบสินค้า และนับรอบสินค้าคงคลังตามหน่วยจำแนกแบบ SKU (Stock Keeping Unit) สำหรับสินค้าหลากหลายขนาด  อีกทั้ง ยังสามารถกำหนดตารางการทำงาน ให้ยกขนชั้นวางสินค้าน้ำหนักสูงสุด 600 กิโลกรัม ภายในคลังสินค้าอย่างลื่นไหล ด้วยระบบหลบหลีกสิ่งกีดขวาง

และในปีนี้ เมื่อร้านค้าปลีกรายใหญ่แข่งขันกันด้วยความเร็ว ผ่านการการันตีรับสินค้าในวันถัดไปหรือในวันเดียวกัน DHL ก็ได้วางแผนใช้งานหุ่นยนต์จากบริษัท Locus Robotics กว่าหนึ่งพันตัว สำหรับปฏิบัติการส่งมอบสินค้า เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และรักษาที่มั่นของบริษัทฯ ในตลาดการค้า  

Exoskeleton

ในอดีตเทคโนโลยีชุดเกราะเสริมพละกำลัง อาจเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เพียงบนหน้าหนังสือการ์ตูนหรือจอภาพยนตร์ ทว่าในทุกวันนี้ จินตนาการดังกล่าวได้กลายมาเป็นโซลูชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยแก่บุคลากรในซัพพลายเชนไปแล้ว  

ชุด Exoskeleton หรือชุดโครงกระดูกภายนอก คือชุดจักรกลที่สามารถประยุกต์ใช้ ทั้งในทางการแพทย์และการพาณิชย์ โดยนอกจากจะใช้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถกลับมาขยับตัวได้แล้ว ชุดโครงกระดูกภายนอก ยังเป็นอุปกรณ์ทุ่นแรง ที่อำนวยให้ผู้สวมใส่สามารถยกของที่มีน้ำหนักมากได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย

โดยในเดือนกรกฎาคม 2015 บริษัท Panasonic ได้เริ่มจำหน่ายชุดโครงกระดูกภายนอกที่มีชื่อว่า Assist Suit AWN-03.59 ซึ่งมีน้ำหนักเพียงหกกิโลกรัม และสามารถช่วยให้ผู้สวมใส่ยกน้ำหนักได้มากถึง 15 กิโลกรัม พร้อมกับสามารถทำงานอย่างต่อเนื่องถึงแปดชั่วโมงต่อการชาร์จพลังงานหนึ่งครั้ง โดยบริษัทฯ มองว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ คือตลาดหลักสำหรับชุดโครงกระดูกภายนอก และวางแผนโฆษณาผลิตภัณฑ์ให้แพร่หลาย ผ่านทางเลือกเช่าใช้งานชุดโครงกระดูกภายนอกแทนการซื้อ 

ในปัจจุบัน Delta Air Lines สายการบินชั้นนำสัญชาติอเมริกัน ร่วมมือกับบริษัทพันธมิตร Sarcos Robotics ผู้นำด้านการพัฒนาชุดโครงกระดูกภายนอก เพื่อนำชุด Sarcos Guardian XO มาเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรของสายการบินฯ

ชุด Sarcos Guardian XO คือ ชุดโครงกระดูกภายนอกเต็มตัว ที่ออกแบบมาเพื่อเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและลดอาการบาดเจ็บของผู้ใช้งาน โดยผู้สวมใส่ชุด Sarcos Guardian XO สามารถยกของที่มีน้ำหนักได้มากถึง 200 ปอนด์ หรือ ประมาณ 90 กิโลกรัม ได้นานแปดชั่วโมงโดยไม่มีอาการเมื่อยล้า  

ทั้งนี้ Delta Air Lines ได้ทดสอบชุดกระดูกภายนอกดังกล่าวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 โดยให้พนักงานลองใช้งานชุดฯ ภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานจริง และเสนอแนะความเห็นหลังใช้งานแก่ Sarcos Robotics เพื่อการพัฒนาชุดให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน พร้อมกันนั้น สายการบินฯ ก็ได้วางแผนปรับใช้งานชุด Sarcos Guardian XO เข้ากับงานจัดการสินค้าในคลังสินค้าของ Delta Cargo การขนย้ายอุปกรณ์ซ่อมบำรุงที่ Delta TechOps รวมทั้งงานยกขนเครื่องจักรและอะไหล่ที่มีน้ำหนักมาก

The Future of Airfreight Supply Chain  

ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการจัดการสินค้า ณ ท่าอากาศยาน ในคลังสินค้า หรือในศูนย์ปฏิบัติการสินค้า ไปจนถึงการขนส่งสินค้าในระยะไมล์สุดท้าย ล้วนแล้วแต่ดำเนินไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีเทคโนโลยีจักรกลเป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งสิ้น

การมาถึงของเทคโนโลยีจักรกลในซัพพลายเชนการขนส่งสินค้าทางอากาศ หาได้เป็นการแทนที่แรงงานบุคลากร หากแต่เข้ามาสนับสนุน เพิ่มพูนประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และผลักดันขีดจำกัดการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อความสะดวกสบายสูงสุดของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งมีความต้องการใช้บริการที่แตกต่างไปจากในอดีต

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Cargolux ลัดฟ้า ส่งความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยในกรุง Beirut
บทความถัดไปIATA เผยสถิติการขนส่งสินค้าทางอากาศเดือนมิถุนายนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ