เทคนิคการจัดการขนส่งสินค้ามูลค่าสูง (High Value Cargo) ให้ปลอดภัยไร้กังวล

0
5334

สำหรับการขนส่งสินค้าสิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงคือความปลอดภัยในการขนส่ง เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมสินค้า การบรรจุลงบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสม การขนถ่ายสินค้าไปจนถึงการขนส่งสินค้าถึงมือผู้รับให้ได้อย่างปลอดภัย เพราะแม้แต่สินค้าทั่วไปก็มีความเสี่ยงที่จะเสียหาย และเสี่ยงต่อการโจรกรรมและสูญหายระหว่างการขนส่งได้ หากมีการจัดการและดูแลสินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ยิ่งไปกว่านั้น หากสินค้าที่คุณขนส่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงแล้ว ก็ย่อมจำเป็นต้องมีการดูแลและจัดการอย่างมีระเบียบ มีขั้นตอนการดำเนินการที่เข้มงวดและรัดกุมมากกว่าปกติอย่างแน่นอน

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าที่เราทำการขนส่งถูกจัดประเภทอยู่ในสินค้ามูลค่าสูงหรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว สินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ จะถูกจำแนกว่าเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการโจรกรรมและมีโอกาสสูญหายระหว่างการขนส่งมากกว่าสินค้าประเภทอื่น โดยสินค้าที่มีมูลค่าสูงมีหลากหลายชนิด ตั้งแต่เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเภสัชภัณฑ์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งานศิลปะ เครื่องประดับ ของสะสม รวมทั้งธนบัตร นอกจากนี้ ยังรวมถึงสินค้าที่มีขนาดใหญ่ต่างๆ อีกด้วย โดยจากสถิติใน Global Supply Chain Intelligence Report ระบุว่า ในปี 2015 มีสินค้าทั่วโลกที่สูญหายจากการโจรกรรมรวมมูลค่าถึง 22.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และทาง BSI คาดว่า ในปี 2016 จีน เยอรมนี อินเดีย เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา อาจมีสินค้าที่ถูกโจรกรรมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าพื้นที่อื่น

เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์อันตรายและลดโอกาสที่สินค้าสูญหายระหว่างการขนส่ง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนควรศึกษาและจัดเตรียมมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างรัดกุม AFL จึงได้รวบรวมข้อควรรู้และข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวทางให้คุณจัดเตรียมและวางแผนการขนส่งสินค้าให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

เลือกใช้ผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ

ในการขนส่งสินค้า ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่ขนส่งให้ได้อย่างปลอดภัยก็คือ ผู้ให้บริการ ขนส่งสินค้า ซึ่งครอบคลุมทั้งตัวแทนผู้รับจัดการสินค้า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ สายการบิน หรือแม้แต่สายการเดินเรือ ดังนั้น ผู้ส่งควรเลือกผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ และได้รับการรับรองด้านความปลอดภัย รวมทั้งควรศึกษาด้วยว่าบริษัทนั้นมีแนวทางป้องกันความปลอดภัยในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือไม่ และหากบริษัทดังกล่าวมีการว่าจ้างผู้รับเหมาย่อยหรือมีพันธมิตรในการให้บริการก็ควรตรวจสอบว่าบริษัทย่อยเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือด้วยหรือไม่เช่นกัน โดยควรมีการตรวจสอบประวัติของบุคลากร ประวัติการทำงาน และมีเกณฑ์การคัดกรองบุคลากรเข้าทำงานโดยละเอียดและเข้มงวด บริษัทควรได้รับอนุมัติหรือมีใบรับรองที่มีความน่าเชื่อถือ

รายละเอียดสัญญาการให้บริการที่ชัดเจน

เมื่อเลือกผู้ให้บริการแล้ว ผู้ส่งควรมีการพูดคุยรายละเอียดในการขนส่งสินค้า ควรทำข้อตกลงหรือสัญญาสำหรับขั้นตอนการขนส่งสินค้าที่ชัดเจน มีการวางแผนการขนส่ง เส้นทางการเดิน ทาง และระบุที่หมายในการขนส่ง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างชัดเจน โดยไม่ควรมีการหยุด จอดพักรถระหว่างทางโดยไม่จำเป็น มีการระบุรถบรรทุกที่ใช้ และเลือกใช้รถบรรทุกที่มีระบบรักษาความปลอดภัย หากต้องขนส่งสินค้าระหว่างประเทศควรระบุเที่ยวบินที่เฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ ผู้ส่งต้องสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ในทุกขั้นตอนและสามารถติดตามสถานะของสินค้าได้ตามเวลาจริงอีกด้วย

เลือกบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม

หากสินค้าที่ทำการขนส่งมีขนาดค่อนข้างเล็กและจำเป็นต้องบรรจุในกล่องบรรจุภัณฑ์ ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ใหม่และมีความแข็งแรงทนทาน โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบและมีความแข็งแรง 200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อป้องกันบรรจุภัณฑ์เสียหายระหว่างเคลื่อนย้ายหรือขนถ่ายสินค้า รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงและทนทาน ยังช่วยให้ขนย้ายสินค้าได้อย่างสะดวกและไม่เสี่ยงเสียหายระหว่างทาง

ภายนอกกล่องบรรจุภัณฑ์ควรหลีกเลี่ยงการระบุชื่อบริษัท เครื่องหมายทางการค้า โลโก้ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือข้อมูลใดๆ ก็ตามที่อาจทำให้คาดเดาได้ว่าสินค้าในบรรจุภัณฑ์คือสินค้าอะไร หากทำการขนส่งสินค้าหลายชิ้น ควรทำการรวบรวมสินค้าไว้ด้วยกัน เพื่อป้องกันสินค้าสูญหาย นอกจากนี้ ควรทำการติดเทปหรือห่อบรรจุภัณฑ์ด้วยพลาสติกหรือผ้าใบสีทึบ เทปที่ติดบนกล่องหรือพลาสติกที่ห่อหุ้มควรมีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เพื่อป้องกันผู้อื่นเปิดสินค้าก่อนถึงที่หมาย และยังช่วยให้ผู้รับสินค้าทราบได้ว่าสินค้าได้รับการเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต

แยกส่งเฉพาะ

ในกรณีที่ต้องขนส่งสินค้าไปยังสถานที่จัดเก็บสินค้า ควรจัดส่งสินค้าใกล้เคียงกับเวลาที่กำหนด ไม่ควรส่งสินค้าล่วงหน้าเกินไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่สินค้าจะสูญหาย ควรระบุให้จัดวางสินค้าในพื้นที่ที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อย สถานที่ที่จัดเก็บควรมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด หากมีผู้รับจัดการขนส่งหลายราย ควรระบุให้มีการลงลายมือชื่อและยืนยันเอกสารรับรองทุกครั้งเพื่อยืนยันตัวตน

เมื่อขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูงควรทำการขนส่งแยกเฉพาะ ไม่ปะปนกับสินค้าของผู้ส่งรายอื่น แต่หากจำเป็นต้องขนส่งในเที่ยวเดียวกันโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรระบุให้จัดวางสินค้าบริเวณหน้ารถ เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่า

ติดตามสถานะสินค้าได้

นอกจากนี้ ผู้ส่งควรติดตั้งอุปกรณ์ติดตามสถานะไว้กับสินค้าเมื่อมีการขนส่งสินค้าทางบกด้วยรถบรรทุก ควรมีการระบุให้มีคนดูแลสินค้าตลอดเวลา และหากเส้นทางการขนส่งมีระยะไกล ควรมีการจัดหาคนขับรถเสริมเพื่อผลัดเปลี่ยนกะในการขับรถ ก่อนการขับขี่ควรมีการตรวจสอบสภาพภายนอกของรถบรรทุกและระบบความปลอดภัยด้วย

ช่วงเวลาขนส่งที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ วันและเวลาในการขนส่งก็สำคัญเช่นกัน ไม่ควรเลือกขนส่งสินค้าในช่วงปลายสัปดาห์เพราะจะมีสินค้าจำนวนมากอยู่ในศูนย์รับจัดการสินค้าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งมีความปลอดภัยที่น้อยกว่าช่วงต้นและกลางสัปดาห์ รวมทั้งไม่ควรจัดส่งสินค้านอกเหนือเวลาทำงาน ยกเว้นว่าจะทำการว่าจ้างบริษัทผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือสูงและมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

ความพร้อมของเอกสาร

นอกจากนี้ ควรมีการดำเนินด้านเอกสารให้เรียบร้อย โดยติดต่อกรมศุลกากรเพื่อยืนยันและดำเนินการข้อมูลเอกสารต่างๆ เพื่อป้องกันความล่าช้าในการจัดการสินค้าและจำกัดข้อมูลที่สำคัญ เช่น มูลค่าสินค้า ลูกค้า ที่หมายในการขนส่ง และผู้ให้บริการ ให้ทราบเพียงบุคคลที่จำเป็นเท่านั้น

ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับสินค้าที่มีขนาดใหญ่ อาจต้องมีทีมงานที่เชี่ยวชาญเตรียมแผนการในการขนถ่ายสินค้าล่วงหน้า มีการจัดเตรียมรถบรรทุก เส้นทางการจราจร รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรมีการตรวจสอบการดำเนินงานล่วงหน้าก่อนเดินทาง เพื่อป้องกันระบบกันขโมยหรือกล้องวงจรปิดหยุดทำงาน

ที่ตั้ง/ระบบความปลอดภัยของคลังสินค้า

ควรเลือกศูนย์จัดการสินค้าที่มีแผนการจัดการด้านความปลอดภัย ซึ่งครอบคลุมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว น้ำท่วม และพายุ โดยควรมีแผนการรับมือล่วงหน้าและมีระบบเตือนภัยด้วย

นอกจากนี้ สถานที่ตั้งสำหรับการรับจัดการสินค้าไม่ควรตั้งอยู่ใกล้พื้นที่อันตราย ควรมีรั้วกั้นสูงอย่างน้อยแปดฟุต มีประตูทางเข้าและออกที่จำกัด มีการล็อกประตูหรือทางเข้าออกที่ไม่ได้ใช้งาน ควรมีสถานีตำรวจหรือสถานีดับเพลิงตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยลาดตระเวน

ด้านนอกอาคารควรมีการติดตั้งไฟที่มีความความสว่างเพียงพอ มีระบบรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการสินค้าที่ดี ระยะห่างระหว่างไฟแต่ละแถวไม่ควรเกิน 150 เมตร และมีระบบไฟสำรองในกรณีฉุกเฉิน อาคารรับจัดการสินค้า ควรมีบุคลากรรักษาความปลอดภัยเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง มีการควบคุมรถที่เข้าและออกจากอาคารอย่างเข้มงวด ต้องมีการแสดงบัตรประจำตัวเพื่อยืนยันตัวตนและมีการจดบันทึกข้อมูล ทะเบียนรถ และเวลาของรถที่เข้าออก

ประตูทางเข้าออกควรมีการจัดระบบรักษาความปลอดภัยที่มีความทันสมัย เช่น ระบบเตือนภัย กล้องวงจรปิด และระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ควรมีการติดตั้งกล้องบนรถด้วยเช่นกัน กล้องที่ติดควรเป็นรุ่นที่สามารถหมุนและสามารถซูมภาพได้ เพื่อให้สามารถระบุตัวตนบุคคลได้ง่ายขึ้น และยังสามารถปรับมุมกล้องให้มองเห็นทุกบริเวณของอาคารได้ ควรมีคนคอยตรวจสอบภาพจากกล้องตลอดเวลาด้วย อีกทั้ง กล้องวงจรปิดควรมีการจัดเก็บข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 30 วัน และมีการตรวจสอบระบบรักษา ความปลอดภัยเป็นประจำ

นอกจากข้อแนะนำข้างต้นแล้ว ผู้ส่งสินค้าก็ควรซื้อประกันภัยสินค้าด้วยทุกครั้ง โดยสอบถามผู้ให้บริการเกี่ยวกับเงื่อนไขและความครอบคลุมของกรมธรรม์ประกันภัยอย่างละเอียด เพื่อให้สินค้าที่มีมูลค่าสูงของคุณได้รับการดูแลและคุ้ม ครองอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DHL Global Forwarding ร่วมสู้ศึก COVID-19 ผ่านปฏิบัติการเที่ยวบินเช่าเหมาลำและการขนส่งทางราง
บทความถัดไปFedEx ร่วมต้าน COVID-19 ส่งมอบหน้ากากอนามัยจากเวียดนามสู่สหรัฐอเมริกา