IATA คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตและความต้องการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศปี 2019

0
7569
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความสำเร็จของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศก็มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับระดับความมั่งคั่งของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี การขยายตัวของกิจกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศก็ย่อมมีแนวโน้มที่แจ่มใสเช่นกัน
Mr. Glyn Hughes ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายการขนส่งสินค้าประจำ IATA

อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิศาสตร์ทางธุรกิจอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่นั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไป เพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศก็จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เมื่อความซับซ้อนและการโต้ตอบทางเศรษฐกิจนับวันยิ่งทวีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น บทบาทขององค์กรการค้า อย่าง IATA ก็ยิ่งมีความโดดเด่นในการที่จะช่วยจัดการและจัดระเบียบให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและคล่องตัวมากที่สุด

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เป็นองค์กรชั้นแนวหน้าของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการเดินอากาศทุกรูปแบบ โดยมีบทบาทหลักในการออกแบบและกำหนดนโยบายในด้านต่างๆ ที่มีความสำคัญ โดย IATA นั้นอยู่ในตำแหน่งที่มีความโดดเด่นในการกำหนดทิศทางและให้คำปรึกษาแก่อุตสาหกรรมในประเด็นหลักที่มีความสำคัญและอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้ การได้รับเกียรติให้พูดคุยกับ Mr. Glyn Hughes ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายการขนส่งสินค้าประจำ IATA เกี่ยวกับแนวโน้ม และทิศทางของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่พิเศษและหาได้ยาก ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอีกด้วย

The Digitalization Movement

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรม e-commerce เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง หากแต่ก็มีความต้อง การทางด้านความโปร่งใสของกระบวนการ ความสามารถในการติดตามสินค้า รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วและสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าได้ตลอดทั้งกระบวน การ ซึ่งเป็นลักษณะความต้องการพิเศษของลูกค้าในตลาด e-commerce

Mr. Hughes กล่าวว่า “การที่ผมได้เห็นความร่วมมือร่วมใจและความทุ่มเทของทั้งผู้ส่งสินค้า ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ผู้ส่งออก ผู้ให้บริการยกขน สินค้าภาคพื้นดิน ในการยกระดับความโปร่งใสให้กับการขนส่งสินค้า e-commerce ในหลายๆ ด้านนั้น เป็นกำลังใจที่สำคัญสำหรับผม อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการขยายผลการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมให้ยิ่งมีประสิทธิผลมากขึ้นไปอีก”

อย่างไรก็ตาม Mr. Hughes ขยายความต่อถึงเหตุผลที่การขับเคลื่อนกระบวนการปฏิบัติงานในรูปแบบดิจิทัลเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญสุดของการเติบโตของอุตสาหกรรม

“ตลอดปีที่ผ่านมา พวกเราพยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลอย่างเต็มตัว” Mr. Hughes กล่าว “ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม ONE Record ซึ่งพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถแชร์ข้อมูลที่พร้อมใช้ได้ทันที แทนที่จะต้องรอจนได้รับข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วนทั้งหมด ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ เอกสารใบตราส่งสินค้าทางอากาศ โปรแกรมนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการผลักดันกระบวนการแบบไร้เอกสาร และสร้างสภาพแวดล้อมแบบ plug & play ให้กับบริษัทต่างๆ โดยเป้าหมายหลักของเราก็คือ การสร้างซัพพลายเชนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์แบบดิจิทัลที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง”

“สำหรับในเรื่องนี้ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สังเกตได้ในช่วงปีที่ผ่านมาก็คือ การประกาศเจตจำนงค์ในการเปลี่ยนมาใช้ใบตราส่งสินค้าทางอากาศแบบดิจิทัล การเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับสัญญาการให้บริการขนส่งสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่เอกสารแบบกระดาษกลายเป็นตัวเลือก ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อพิจารณาจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา ซึ่งเอกสารใบตราส่งสินค้าทางอากาศถือเป็นข้อบังคับและเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น หรือจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ได้ และก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าแนวโน้มในอนาคตนั้นข้อมูลรูปแบบดิจิทัลจะถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับแรก”

A Move Away from Paper

วิสัยทัศน์ในการให้ความสำคัญกับข้อมูลดิจิทัลเป็นอันดับหนึ่งนั้นยังคงอยู่ในระหว่างการผลักดัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ความต้องการที่จะนำเทคโนโลยีเดียวกันนี้มาใช้ในกระบวนการธุรกิจก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จนในที่สุดกระบวนการอันนี้ก็จะก้าวข้ามอุปสรรคและบรรลุเป้าหมายในการใช้ข้อมูลดิจิทัลเป็นหลักได้ในที่สุด นั่นก็คือการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างทั่วถึงและครอบคลุม กรณีนี้จะคล้ายคลึงกับการกลิ้งลูกบอลหิมะลงจากที่สูง เมื่อลูกบอลหิมะสะสมมวลได้มากเพียงพอ ก็จะเกิดโมเมนตัมให้ทุกอย่างขับเคลื่อนต่อไปได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ ปัจจุบันอุปสรรคในการเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง และผู้คนต่างก็มีความพร้อมมากขึ้นในการตอบรับต่อการใช้งานในรูปแบบดิจิทัล

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการดำเนิน งานแบบดิจิทัลก็คือใบตราส่งสินค้าทางอากาศแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภายในอุตสาหกรรมได้มีความพยายามผลักดันให้มีการใช้งานมาเป็นเวลายาวนานหลายปี ต่างจากในภาคการให้บริการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งการเปลี่ยนจากการออกตั๋วโดยสารแบบกระดาษเป็นแบบดิจิทัลนั้นได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว โดยในอดีต IATA จำเป็น ต้องพิมพ์ตั๋วโดยสารปริมาณหลายล้านฉบับในแต่ละปี และจัดการจำหน่ายผ่านบริษัทตัวแทนออกตั๋วที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วโลก มติในการยกเลิก กระบวนการนี้ถือเป็นเรื่องที่สะเทือนวงการ ซึ่งสั่นคลอนความสำคัญของบริษัทตัวแทนออกตั๋วและบริษัทนำเที่ยว ที่ถูกลดความสำคัญในกระบวนการเดินทางทางอากาศของผู้โดยสารลงโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ดี กระบวนการเปลี่ยนผ่านในฝั่งของการขนส่งผู้โดยสารนั้นก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากกระบวนการในการขนส่งสินค้าสามารถตอบรับต่อนโยบายได้อย่างรวดเร็วเช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก หากแต่ก็เป็นดังที่ Mr. Hughes ได้กล่าวเอาไว้เบื้องต้นว่าเรื่องนี้เป็น กระบวนการที่มีอุปสรรคค่อนข้างมาก

“ในโลกของการขนส่งสินค้า ใบตราส่งสินค้าทางอากาศเป็นเอกสารที่ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและบริษัทตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าทุกรายจำเป็นต้องมี โดยเกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากหลายฝ่าย ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนมาใช้ระบบ

ไร้เอกสารจึงมีความซับซ้อนมากกว่าในกรณีของตั๋วโดยสารเครื่องบินมาก ปัจจัยสำคัญอีกประการก็คือ ตามสนธิสัญญาวอร์ซอนั้นมีการวางพื้นฐานสำหรับตั๋วโดยสารแบบไร้เอกสารเอาไว้ แต่ในด้านกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ มีข้อกำหนดให้มีเอกสารกระดาษสำหรับเป็นหลักฐานยืนยันการขนส่งสินค้า นั่นคือเหตุผลที่ IATA พยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ยืนยันตามข้อตกลงของอนุสัญญามอนทริออล ปี 1999 (MC99) ซึ่งยังคงมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วม นอกจากนี้ ถึงแม้ทุกประเทศจะได้ร่วมให้สัตยาบันตามอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว สินค้าที่ดำเนินการขนส่งก็ยังจำเป็นต้องได้รับการจัดการยกขน (ต่างจากผู้โดยสารที่สามารถเดินทางไปขึ้นเครื่องบินได้ด้วยตัวเอง) จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยกขนสินค้าตลอดทั้งซัพพลายเชนทุกรายได้รับข้อมูลของสินค้าในกระบวนการอย่างถูกต้อง”

“ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีวิธีการอย่างเด็ดขาดเพียงกระบวนการเดียว ที่จะสามารถทำให้กระบวนการในแบบดิจิทัลเกิดขึ้นได้ทันทีสำหรับภาคการขนส่งสินค้าทางอากาศ เราจึงต้องพยายามกดดันให้ทุกคน ทุกฝ่าย ค่อยๆ ปรับกระบวนการให้เป็นแบบดิจิทัล โดยมีเหตุผลจูงใจที่เหมาะสมเป็นตัวสนับสนุน ซึ่งก็ต้องเป็นเหตุผลที่ยอมรับได้โดยผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ที่อาจมีมุมมองในการปฏิบัติแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ยอดการใช้งาน ใบตราส่งสินค้าทางอากาศแบบดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นเป็น 900,000 รายการต่อเดือนในปัจจุบัน ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีว่ากระบวนการผลักดันประสบความสำเร็จไปอีกขั้น เมื่อเทียบกับช่วง 3-4 ปีก่อนที่มียอดรายการอยู่แค่เพียง 200,000 กว่ารายการต่อเดือนเท่านั้น และผมเชื่อมั่นว่าตัวเลขนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุตสาหกรรมค่อยๆ เปิดรับกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปเป็นระบบดิจิทัล พร้อมรับรู้ถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น”

Expanding Programs

โครงการ Center of Excellence for Independent Validators (CEIV) เป็นโครงการที่ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการผลักดันซัพพลายเชนให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล โดย IATA ได้ประสานงานกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ควบคุม และนำหนังสือรับรอง CEIV Pharma เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรต่างๆ รวมไปถึงซัพพลายเชนทั้งระบบสามารถบรรลุเป้าหมายในการจัดส่งเภสัชภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัยทั้งในแง่ของคุณภาพสินค้าและการป้องกันจากการสูญหาย หรือโจรกรรม

Mr. Hughes กล่าวว่า “อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์มีความต้องการที่ละเอียดอ่อนและเข้มงวดอย่างยิ่งในการใช้บริการจากอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความต้องการใช้งานซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โปรแกรม CEIV ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการอันนี้ โดยการให้การยืนยันถึงประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมในการปฏิบัติงานยกขนสินค้าประเภทเภสัชภัณฑ์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เรายังเป็นผู้ก่อตั้งชุมชนผู้ปฏิบัติการที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างกัน และสร้างเป็นเส้นทางการค้าสำหรับขนส่งเภสัชภัณฑ์ไปยังปลายทางต่างๆ ทั่วโลก บริษัทผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ต่างก็พึงพอใจอย่างมากที่เราผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นการช่วยให้พวกเขามั่นใจได้มากยิ่งขึ้นว่าสินค้ามูลค่าสูงที่มีความอ่อนไหวและเสี่ยงต่อการสูญเสียคุณภาพได้ง่าย จะได้รับการดูแลจัดส่งอย่างปลอดภัยตลอดทั้งซัพพลายเชน”

โครงการรับรองคุณภาพโดยสมัครใจในรูปแบบเดียวกันนี้กำลังถูก IATA นำไปปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ ซึ่งโดยหลักใหญ่ใจความนั้น โปรแกรม CEIV ก็พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องหลักๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม โดยเป็นการรวบรวมมาตรฐานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เคยมีการเผยแพร่เอาไว้แล้วโดย IATA หรือหน่วยงานกำกับควบคุมอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ส่งสินค้าและผู้ใช้บริการตลอดทั้งซัพพลายเชน CEIV ก็คือโครงการที่บูรณาการองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นโปรแกรมการตรวจสอบที่มีรายการตรวจสอบที่ละเอียดและเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ตรวจสอบอิสระสามารถใช้ตรวจสอบหน่วยงาน รวบรวมผลการตรวจสอบ และออกหนังสือรับรองให้ในกรณีที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบ ซึ่ง Mr. Hughes ได้กล่าวเอาไว้ว่า การดำเนินการอันนี้ไม่ใช่ขั้นตอนการพัฒนาที่ก้าวกระโดด แต่เป็นการรวบรวมและจัดหมวดหมู่มาตรฐานให้เข้ากับแต่ละภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศเท่านั้น

“มีหลายภาคอุตสาหกรรมที่สังเกตได้ว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น สัตว์มีชีวิต สินค้าเน่าเสียง่าย สินค้ามูลค่าสูง และการปฏิบัติการที่ต้องการความชำนาญพิเศษนี้ยังครอบคลุมไปถึงผู้ให้บริการยกขนสินค้าภาคพื้นด้วย จากประจักษ์พยานความสำเร็จและผลสืบเนื่องที่ CEIV มีต่ออุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เราจึงตัดสินใจเริ่มดำเนินโครงการที่คล้ายคลึงกับ CEIV ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเราเริ่มต้นโครงการในภาคอุตสาหกรรมสัตว์มีชีวิต ซึ่งกำลังจะเริ่มขยายผล แน่นอนว่ารายการตรวจสอบ สภาพควบคุมต่างๆ กระบวนการยกขนสินค้า และความต้องการของลูกค้าย่อมแตกต่างออกไปตามเงื่อนไขของอุตสาหกรรม แต่ทั้งหมดยังคงอยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน นั่นก็คือการพัฒนาโครงการตรวจสอบโดยอาศัยมาตรฐานต่างๆ เหล่านั้น และส่งผู้ตรวจสอบอิสระออกไปดูแลและดำเนินกิจกรรมการตรวจสอบ”

“ปัจจุบันเรากำลังริเริ่มนำโครงการ CEIV ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมสินค้าสด ซึ่งยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยเรากำลังศึกษามาตรฐานของอุตสาหกรรม และรวบรวมกฎข้อบังคับที่จำเป็นต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เราสามารถประสานและบูรณาการมาตรฐานต่างๆ และแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นในการปฏิบัติการยกขนเข้าอยู่ภายใต้โครงสร้างของโครงการ ซึ่งเราก็คาดหวังว่าโครงการริเริ่มนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างซัพพลายเชนที่มีคุณภาพสูงขึ้นได้ทั่วทั้งอุตสาหกรรม”

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้บทบาทสำคัญของเครื่องบินขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศ
บทความถัดไปDHL ผู้นำด้านบริการลีดโลจิสติกส์
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way