ไขเบื้องหลังการจัดการขนส่งผลงานศิลปะชิ้นเอกสำหรับนิทรรศการศิลป์ระดับโลก

0
4040

ยุคสมัยใหม่ของการขนส่งงานศิลปะรอบโลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 1960 หลังจากที่สายการบินรายใหญ่หลายแห่งสามารถให้บริการขนส่งสินค้าเส้นทางตรงได้มากขึ้น ในระยะทางที่ไกลขึ้น ภายใต้ระยะเวลาที่สั้นลง โดยงานนิทรรศการศิลปะที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการขนส่งชิ้นงานศิลปะชื่อดังสำหรับการจัดแสดงรอบโลก ด้วยการขนส่งทางอากาศ คือ งานนิทรรศการ TREASURES OF TUTANKHAMUN ของพิพิธภัณฑ์ CAIRO ที่ได้รับการขนส่งไปยังประเทศอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1961 และหลังจากนั้นก็ยังคงมีการขนส่งไปจัดแสดงในปลายทางอื่นๆ ทั่วโลกเป็นเวลากว่า 20 ปี ด้วยการใช้กล่องไม้หนาเป็นบรรจุภัณฑ์และแยกส่วนชิ้นงานออก เพื่อกระจายการขนส่งไปกับเครื่องบินหลายๆ ลำ

หลังจากแนวความคิดในการจัดแสดงนิทรรศการรอบโลกได้เริ่มต้นขึ้น ขณะเดียวกันนี้วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและวิธีการจัดการดูแลสินค้าก็ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การขนส่งงานศิลปะสำหรับการจัดแสดง ยังคงเป็นธุรกิจที่มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากสถาบันชื่อดังต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้ที่หลงใหลในงานจัดแสดงพยายามครุ่นคิดหาคำตอบว่า ชิ้นงานศิลปะระดับโลกเหล่านี้มาปรากฎอยู่ตรงหน้าพวกเขาได้อย่างไร แต่กระบวนการจัดการทั้งหมดก็ยังเป็นเรื่องที่ยากจะหยั่งรู้

เรื่องราวเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่โลกแห่งศิลปะตั้งใจซุกซ่อนไว้เป็นความลับอยู่เบื้องหลัง เพราะการขนส่งชิ้นงานเพียงหนึ่งชิ้นไปยังอีกซีกโลกหนึ่ง ยังต้องผ่านขั้นตอนอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การทำสัญญาขอยืมชิ้นงาน การทำประกันสินค้า การบรรจุสินค้า การดำเนินงานด้านเอกสาร การจัดการดูแลการขนส่ง การจัดการสินค้า และการติดตั้งงานศิลปะ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดต้องใช้ทั้งความละเอียดรอบคอบอย่างมาก ควบคู่ไปกับต้นทุนที่สูงลิ่ว และการดำเนินการขั้นตอนอีกมากมาย ดังนั้น งานจัดแสดงงานศิลปะทุกงานจึงเป็นผลงานที่มาจากกระบวนการโลจิสติกส์อันสลับซับซ้อนที่ครอบคลุมอยู่ทั่วโลก

Moving Priceless Artifacts

ขณะที่สถาบันหลายแห่งต่างกุมหัวคิดไม่ตกทุกครั้งที่ต้องส่งมอบงานศิลปะ พิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งก็ต้องการดึงดูดผู้ชมด้วยงานนิทรรศการระดับโลกเช่นกัน วิธีเดียวที่สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้บ่อยครั้งคือ การร่วมมือกับสถาบันอื่นเพื่อจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งนี้ การจัดส่งชิ้นงานศิลปะทั้งหมดให้ไปถึงจุดหมายพร้อมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการในการจัดนิทรรศการงานศิลป์ขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยผลงานระดับโลกก็ยังถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายไม่น้อย

แน่นอนว่าเมื่อผลงานศิลปะนั้นๆ จัดเป็นศิลปะชั้นสูงก็ย่อมต้องมีมูลค่าสูงตามไปด้วย อีกทั้งยังมีความต้องการที่จะนำไปจัดแสดงบ่อยครั้งมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการขนส่งงานวิจิตรศิลป์ที่ต้องใช้ต้นทุนสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

แน่นอนว่าเมื่อผลงานศิลปะนั้นๆ จัดเป็นศิลปะชั้นสูงก็ย่อมต้องมีมูลค่าสูงตามไปด้วย อีกทั้งยังมีความต้องการที่จะนำไปจัดแสดงบ่อยครั้งมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการขนส่งงานวิจิตรศิลป์ที่ต้องใช้ต้นทุนสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และยังเป็นงานที่ท้าทายในทางปฏิบัติด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผลงานชิ้นเอกอันเก่าแก่ก็มักมาพร้อมความเปราะบาง ขณะที่ประติมากรรมร่วมสมัยบางชิ้น ก็ถูกปั้นขึ้นในรูปแบบที่มีความเสี่ยงสูงหากต้องทำการเคลื่อนย้าย ซึ่งด้วยปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มความกดดันขึ้นไปอีก เพราะผลงานเหล่านี้ถือเป็นศิลปะทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่าไม่ได้

นอกจากนี้ การเจรจาต่อรองและดำเนินงานเอกสารในแต่ละขั้นตอนก็อาจมีความซับซ้อนอย่างมาก จนบ่อยครั้งที่ผู้ดำเนินการต้องใช้เวลาดำเนินงานจนบรรลุตามข้อตกลงทั้งหมด เสร็จสิ้นก่อนการเปิดนิทรรศการเพียงไม่กี่สัปดาห์ ขณะที่การขนส่งแต่ละครั้ง ก็จำเป็นต้องมีการดำเนินการขอใบอนุญาตส่งออก อีกทั้ง สัญญายืมผลงานศิลปะบางชิ้น ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการอนุมติจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะตกลงเรื่องสัญญายืมสำเร็จไปแล้ว แต่การเจรจาต่อรองในเรื่องข้อตกลงต่างๆ ก็จะไม่ได้เริ่มขึ้นทันที อาทิ การตัดสินใจว่าจะขนส่งงานศิลปะอย่างไร ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าประกันผลงานศิลปะและค่าขนส่ง การจัดแสดงงานศิลปะชิ้นนั้นจะต้องมีการติดตั้งอย่างไร ระบบความปลอดภัยที่จะใช้จะเป็นรูปแบบใด รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในเรื่องของการรักษาอุณหภูมิและจำกัดความชื้นขณะขนส่ง โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงข้อตกลงส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการตัดสินใจให้เสร็จสิ้นก่อนที่การขนส่งผลงานศิลปะจะเริ่มต้นขึ้น

A Safe Journey

พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเลือกส่งตัวแทนขนส่งเดินทางไปพร้อมกับชิ้นงานศิลปะด้วย วิธีการเช่นนี้รู้จักกันในชื่อ ‘nail to nail’ คือ การที่ให้ผู้บริการเพียงคนเดียวดูแลสินค้าตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มนำงานศิลปะออกจากจุดจัดแสดงเดิม ไปจนถึงการติดตั้งงานศิลปะในสถานที่ใหม่ ในกรณีที่ตัวแทนไม่สามารถดำเนินการติดตั้งเองได้ ตัวแทนผู้ให้บริการก็จะต้องอยู่กับงานศิลปะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องอยู่กับชิ้นงานนั้นๆ ไปตลอดการเดินทางและเฝ้าติดตามการดำเนินงานทุกขั้นตอน

โดยปกติแล้ว การขนส่งจะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าตรู่ เมื่อผู้ดูแลชิ้นงานร่วมเดินทางไปกับตัวสินค้าหลังจากได้ขนย้ายงานศิลปะขึ้นรถตู้ แล้วออกเดินทางจากพิพิธภัณฑ์ไปยังจุดขนส่งต่อไป ส่วนการขนย้ายชิ้นงานขนาดเล็ก อาทิ หนังสือและต้นฉบับงานเขียนต่างๆ สามารถขนส่งได้ด้วยการนำงานศิลปะติดตัวไปกับผู้ดูแลโดยกระเป๋าพกพา ซึ่งต้องใช้เอกสารยืนยัน และมีที่นั่งระดับ first-class สำรองไว้สำหรับชิ้นงานโดยเฉพาะ

ในส่วนของผลงานศิลปะที่มีขนาดใหญ่หรือน้ำหนักมาก สินค้าจะได้รับการขนส่งด้วยตู้สินค้าเพื่อการขนส่งทางอากาศเป็นส่วนใหญ่ โดยต้องมีการจัดเตรียมสินค้าให้ถึงสนามบินก่อนกำหนดการเที่ยวบินล่วงหน้าอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง และได้รับการเฝ้าระวังตลอดการยกสินค้าเข้าใต้ท้องเครื่องบิน ในบางกรณีอาจจะใช้วิธีจองที่นั่งผู้โดยสารเมื่อใช้เครื่องบินโดยสาร เพื่อให้ผู้ดูแลชิ้นงานเดินทางไปด้วยได้ ส่วนกรณีที่ตู้สินค้ามีขนาดใหญ่เกินไป ผู้ให้บริการก็จะเลือกใช้บริการเครื่องบินขนส่งสินค้าโดยตรง เนื่องด้วยขนาดพื้นที่ระวางที่ใหญ่กว่าและระดับความสูงของพื้นที่จะเหมาะสมกับการขนส่งสินค้ามากกว่า

หลังจากที่งานศิลปะทั้งหมดได้รับการขนส่งไปถึงจุดหมายแล้ว ผู้ดูแลชิ้นงานจะต้องอยู่ร่วมระหว่างการยกขนบรรจุภัณฑ์ออกจากตัวเครื่อง ก่อนที่จะยกขนชิ้นงานขึ้นบนรถบรรทุกที่มีการควบคุมอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม เพื่อส่งต่อไปยังพิพิธภัณฑ์จัดแสดง โดยหากจำเป็นต้องหยุดพักการขนส่งระหว่างวัน ผู้ปฏิบัติการจะต้องจองพื้นที่จัดเก็บในอาคารคลังสินค้าที่ปลอดภัยและมีพื้นที่ควบคุมอุณหภูมิ อีกทั้งยังต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลชิ้นงานตลอดเวลาที่ผลงานศิลปะเหล่านั้นอยู่ในรถ

ทั้งนี้ แม้การจัดแสดงจะเป็นเพียงงานนิทรรศการขนาดกลาง แต่ภายในงานก็อาจมีงานศิลปะที่มีอายุนับ 100 ปี จัดแสดงอยู่ด้วย ดังนั้น ผลงานแต่ละชิ้นจึงต้องได้รับการขนส่งให้ถึงที่หมายตรงต่อเวลาโดยไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่นิดเดียว ขณะเดียวกันการติดตั้งงานศิลปะสำหรับชิ้นงานขนาดใหญ่ ก็อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาที่กระชั้นชิด จึงจำเป็นต้องมีการจัดเตรียม การจองพื้นที่ และการจัดสรรตารางเวลาเป็นรายชั่วโมง

เมื่อสินค้าได้รับการขนส่งไปถึงที่หมายแล้ว ผู้จัดการงานศิลปะจะรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลชิ้นงานต่อ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่จะให้เจ้าหน้าที่ภายในองค์กรเป็นผู้ประสานงาน แต่ในปัจจุบัน บริษัทผู้ให้บริการจัดการขนส่งสินค้าหลายราย ได้จัดเตรียมพนักงานจัดการสินค้าของบริษัทให้เป็นผู้จัดการงานศิลปะตลอดการดำเนินงานแทนทุกขั้นตอน อีกทั้งยังคอยอำนวยความสะดวกสำหรับงานจัดแสดงและบริการลูกค้าพิเศษ รวมไปถึงการดูแลจัดการห้องแสดงนิทรรศการ ซึ่งในบางครั้งอาจต้องมีการใช้เครื่องยกหินกว่าครึ่งตัน เคลื่อนย้ายและจัดวางชิ้นงานลงบนระเบียงแคบๆ หรือการติดตั้งภาพวาดขนาดเล็กบนผนัง

ทั้งนี้ บริษัทผู้จัดการขนส่งสินค้าที่มีประสบการณ์จะมีการวางแผนตำแหน่งการยกชิ้นงานทุกชิ้นที่ต้องใช้คนในการขนย้าย ตั้งแต่ขั้นตอนการเคลื่อนย้ายชิ้นงานออกจากห้องเก็บงานศิลปะ ไปจนถึงขั้นตอนการติดตั้งชิ้นงานตามจุดที่กำหนด ซึ่งต้องมีการประเมินและคำนวณขนาดพื้นที่ว่าชิ้นงานศิลปะจะสามารถผ่านประตูได้พอดีหรือไม่ ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว เอกสารที่มาพร้อมกับงานศิลปะจะให้ข้อมูลครอบคลุมทั้งหมด ทั้งวิธีการติดตั้งและประกอบชิ้นงานในแต่ละขั้นตอน

ตลอดช่วงเวลาการขนส่งผลงานศิลปะ การรักษาความปลอดภัยนับเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่แล้ว ในหลายประเทศจะใช้รถบรรทุกในการขนส่งทางถนน โดยมีผู้ดูแลติดอาวุธอยู่ในรถหรือใช้รถยนต์ติดตามเพื่อรักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการใช้ถนนเส้นหลักและใช้ประเภทรถที่ไม่หรูหรามาก เพื่อให้สามารถคาดเดาสิ่งของที่อยู่ภายในรถได้ยาก

ผู้ให้บริการยังต้องดูแลไม่ให้ชิ้นงานได้รับแรงกระแทกระหว่างการขนส่ง โดยส่วนใหญ่บรรจุภัณฑ์ที่ใช้คือ ไม้อัด ซึ่งมีฉนวนความร้อนจัดวางซ้อนกันอยู่อีกหลายชั้น

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังต้องดูแลไม่ให้ชิ้นงานได้รับแรงกระแทกระหว่างการขนส่ง โดยส่วนใหญ่บรรจุภัณฑ์ที่ใช้คือ ไม้อัด ซึ่งมีฉนวนความร้อนจัดวางซ้อนกันอยู่อีกหลายชั้น โดยหน่วยงานที่เป็นเจ้าของผลงานศิลปะจะกำหนดอุณหภูมิระหว่างการจัดแสดงไว้ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม การควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่งนั้นเป็นเรื่องที่มีความท้าทายสูง ผู้ให้บริการจึงต้องเน้นย้ำเรื่องของการควบคุมเวลาในการขนส่งให้แม่นยำที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการขนส่งผลงานศิลปะส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้รถบรรทุกที่มีถุงลมกันสะเทือน เนื่องจากระบบโช้คอัพและการซับแรงกระแทกถือเป็นระบบที่จำเป็นสำหรับการป้องกันแรงกระแทกต่อตัวสินค้า หรือหากสามารถจัดหาระบบติดตามและตรวจสอบระดับการสั่นเทือนได้ผู้ให้บริการก็จะเลือกใช้เทคโนโลยีนั้นๆ เข้ามาช่วยตรวจสอบ โดยในอดีตก็มีการจัดเตรียมระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัยในการขนส่งผลงานศิลปะชิ้นเอกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดเก็บภาพวาด Mona Lisa ในบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบให้สามารถลอยน้ำได้ หากเรือที่ปฏิบัติการขนส่งล่มหรืออับปางลงไป เมื่อครั้งที่มีการขนส่งไปยังประเทศอเมริกาในช่วงปี 1960 ผ่านการขนส่งทางทะเลข้ามมหาสมุทร Atlantic

แม้ว่าการขนส่งผลงานศิลปะจะเป็นงานที่ต้องเผชิญกับความกดดันตลอดขั้นตอนการดำเนินงาน แต่ก็ถือเป็นผลงานที่คุ้มค่า เนื่องจากการได้สัมผัสกับผลงานศิลปะชิ้นเอก การได้ศึกษาและรับรู้ข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับชิ้นงาน ขั้นตอนการขนส่ง และการประกอบผลงานศิลปะต่างๆ ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ถือเป็นงานที่มีผู้คนเพียงไม่กี่คนบนโลกเท่านั้นที่มีโอกาสได้สัมผัส แม้ว่าโลกทุกวันนี้จะก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ประสบการณ์ที่ได้เห็นและได้ใกล้ชิดกับผลงานศิลปะชิ้นเอกของโลกด้วยตาตัวเองจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงยังคงเดินหน้านำผลงานเหล่านี้ไปจัดแสดงในนิทรรศการระดับโลกทั่วทุกมุมโลกต่อไป

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้BFS ร่วมมือร่วมใจ ก้าวสู่ความสำเร็จร่วมกัน
บทความถัดไประบบแจ้งเข้ารับสินค้าล่วงหน้า (Import Collection Process) ของ BFS ยกระดับการเข้ารับสินค้าให้สะดวกกว่าเดิม
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of. The Logistics Industry has now become one of her interests that is leading her towards another step towards furthering her knowledge.