การจัดการซัพพลายเชนสินค้าแฟชั่น: เพราะความรวดเร็วคือข้อได้เปรียบ

0
8561

ในยุคแห่งข่าวสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งทิศทางและกระแสความต้องการของผู้บริโภคล้วนมีการผันแปรและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่กระตุ้นให้บริษัทผู้ให้บริการผู้ผลิต และอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนต้องปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว และตรงใจลูกค้ามากที่สุด

หนึ่งในอุตสาหกรรมสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการผันเปลี่ยนของข้อมูลและความต้องการอย่างไม่หยุดนิ่งมาโดยตลอดก็คือ อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่น ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงของคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าตามเทรนด์ของตลาดและผู้บริโภคอยู่เสมอ

หลังจากวินาทีแรกที่เสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่ได้เปิดตัวบนรันเวย์ ความต้องการด้านการสั่งซื้อและเป็นเจ้าของเสื้อผ้าเซ็ตนั้นๆ ก็จะเริ่มต้นขึ้นทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาในการวางขายสินค้าย่อมขึ้นอยู่กับกระบวนการหลังบ้านของแต่ละแบรนด์ว่าพวกเขามีการเตรียมความพร้อมอย่างไร ทั้งในแง่ของการจัดหาวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การบรรจุสินค้าในบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้า เพื่อจัดส่งไปยังร้านค้าทั่วโลกให้ทันความต้องการของลูกค้า ซึ่งจุดนี้จะเป็นตัวกำหนดความรวดเร็วและระยะเวลาการวางขายสินค้า นั่นหมายความว่า แบรนด์ใดสามารถบริหารจัดการขั้นตอนหลังบ้านได้ดีก็ย่อมมีข้อได้เปรียบทางการค้ามากขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว ระยะเวลานับตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบคอลเล็กชั่นเสื้อผ้า การจัดหาวัตถุดิบในการผลิต ตลอดจนถึงกระบวนการผลิตและจัดส่งไปยังร้านค้าใช้เวลาโดยเฉลี่ยราวหกถึงแปดเดือน แต่สำหรับแบรนด์สัญชาติสเปนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง Zara สามารถดำเนินกระบวนการดังกล่าวให้เสร็จได้ภายในเวลาเพียงสามอาทิตย์ หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยและอยากรู้ถึงขั้นตอนการทำงานเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์แฟชั่นรายนี้ว่า อะไรที่ทำให้ Zara ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือดในปัจจุบัน ดังนั้น เราจึงอาสาพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับแนวคิดการบริหารจัดการและกุญแจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Zara

Speed and Agility are Vital

สำหรับสินค้าในร้าน Zara ใช้เวลาเริ่มตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงขั้นตอนการผลิตและจัดส่งถึงชั้นวางสินค้าได้ภายในสามอาทิตย์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลูกค้าทั่วโลกให้ได้ ซึ่งจากแนวคิดในการตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างรวดเร็วของ Inditex ทำให้องค์กรสามารถเติบโตและขยายสำนักงานได้มากกว่า 7,490 แห่งทั่วโลก โดยร้านค้าของ Zara ซึ่งถือเป็นแบรนด์แรกของ Inditex มีจำนวนมากถึง 2,259 แห่งทั่วโลก

Zara เป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นในเครือบริษัท Inditex ซึ่งเป็นบริษัทสิ่งทอรายใหญ่สัญชาติสเปน มีสินค้าในอุตสาหกรรมค้าปลีก ทั้งเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ในเครือทั้งหมดเจ็ดแบรนด์ ได้แก่ Zara, Pull&Bear, Massimo Dutti, Bershka, Stradivarius, Zara Home และ Uterqüe โดย Inditex มีศูนย์กลางการผลิตสิ่งทอและศูนย์กลางโลจิสติกส์อยู่ในสเปน มีการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของสินค้าในเครือ โดยทางบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความรวดเร็วของ lead time ของสินค้าแต่ละชิ้นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ เติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางตลาดแฟชั่นที่มีการแข่งขันสูงอย่างปัจจุบัน

จากกระบวนการคิดและการทำงานอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาในการผลิตคอลเล็กชั่นใหม่ในเวลาไม่ถึงเดือน ทำให้ Zara ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับได้รวมกันมากกว่า 12,000 แบบต่อปี มีกำลังการผลิตสูงถึง 450 ล้านชิ้นต่อปี โดยสินค้าได้รับการผลิตและจัดส่งภายใต้การทำงานของ Inditex แนวคิดการผลิตและกระจายสินค้าที่ทำให้ Inditex สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าได้รวดเร็วจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ แม้ต้องประสานงานร่วมกับซัพพลายเออร์มากกว่า 1,824 ราย และโรงงานผลิตมากกว่า 7,210 แห่ง คือ การขนส่งแบบ milk-run ซึ่งเป็นแนวความคิดการดำเนินการที่ได้รับความนิยมตามแบบฉบับของ Toyota หรือที่รู้จักกันว่า Just-in-Time กระบวนการทำงานดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการวัตถุดิบและขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกระจายสินค้าไปยังร้านค้าทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว โดยระบบจะทำการประมวลผล เพื่อหาช่องทางในการขนส่งให้มีประสิทธิภาพที่สุด ขนส่งได้ตรงเวลาที่สุด และท้ายสุดคือไปถึงที่หมายให้รวดเร็วที่สุด โดยใช้เวลามากที่สุดเพียง 48 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นที่อาจใช้เวลาร่วมเดือน

Use Technology Wisely

ย้อนกลับมาที่คำถามที่ว่า Zara ทำอย่างไรถึงสามารถออกแบบสินค้าได้มากถึง 12,000 แบบต่อปี และประสบความสำเร็จกับยอดขายในตลาดได้อย่างต่อเนื่อง จากแนวคิดที่ Zara ยึดมั่นในการวางกลยุทธ์ที่เฉียบแหลมและวางลูกค้าเป็นศูนย์กลางอันดับหนึ่ง ทำให้ Zara เลือกใช้เทคโนโลยี RFID เพื่อติดตั้งในเสื้อผ้าแต่ละชิ้น จากนั้นทำการเก็บข้อมูลผ่านระบบแท็กดังกล่าว เพื่อให้ทราบว่าสินค้าชิ้นไหนที่มียอดจำหน่ายสูงสุด สินค้าชิ้นไหนที่ใกล้จะหมด และสินค้าชิ้นไหนที่ทำยอดขายได้ไม่ตรงตามเป้าที่วางไว้ จากนั้นข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งกลับไปยังสำนักงานใหญ่ บุคลากรจะทราบทันทีว่าสินค้าชิ้นนี้ได้รับความนิยมและใกล้จำหน่ายหมด ก่อนที่ข้อมูลจะถูกส่งกลับไปยังโรงงานผลิตและซัพพลายเออร์ เพื่อแจ้งให้พวกเขาจัดหาวัตถุดิบ ดำเนินการผลิต และจัดส่งสินค้าเพื่อมาเติมสต๊อกสินค้าใหม่ได้ทันเวลา จึงกล่าวได้ว่าเทคโนโลยี RFID ช่วยให้แบรนด์ต่างๆ ภายในเครือของ Inditex สามารถเติมสต๊อกสินค้าให้เร็วขึ้นได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ เทคโนโลยี RFID ยังมีข้อได้เปรียบในแง่ของความสะดวกและความแม่นยำของการตรวจสอบจำนวนและที่อยู่ของสินค้า บุคลากรสามารถตรวจเช็คจำนวนสินค้าในสาขาที่ตนให้บริการ จำนวนสินค้าในสาขาใกล้เคียง หรือจำนวนสินค้าที่มีขายออนไลน์ได้ ซึ่งหากลูกค้าสนใจสินค้าชิ้นใดชิ้นหนึ่ง สามารถสอบถามพนักงานได้ว่า มีสินค้ารุ่นนั้นๆ ในสาขาที่อยู่ใกล้กับพวกเขาหรือไม่ หรือหากไม่มีจำหน่ายในสาขานั้น พนักงานก็จะสามารถตรวจเช็คและให้คำตอบกับลูกค้าได้ทันทีว่ามีสินค้าในสาขาใกล้เคียงสาขาใดบ้าง หรือพนักงานสามารถตรวจสอบข้อมูลเพื่อการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ จากกระบวนการตรวจสอบข้อมูลสต๊อกสินค้าที่รวดเร็วนี้ มีส่วนช่วยลดความกังวลและลดขั้นตอนการตรวจเช็คสินค้าให้กับพนักงาน ซึ่งในที่สุดจะช่วยให้พนักงานสามารถนำเวลาไปดูแลและให้บริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นได้

นอกจากนี้ การปรับใช้ RFID ยังมีส่วนช่วยลดจำนวนการผลิตสินค้าที่อาจทำยอดขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร หากมีการแจ้งข้อมูลว่า สินค้ารุ่นไหนที่ทำยอดจำหน่ายได้ไม่ดีเท่าที่คาดไว้ Zara ก็จะสามารถพักหรือหยุดการผลิตได้อย่างทันท่วงที ทำให้ดีไซน์เนอร์สามารถนำเวลาไปออกแบบคอลเล็กชั่นใหม่ที่อาจตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้นมากกว่า ซึ่งผลจากการเปลี่ยนคอลเล็กชั่นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ทำให้ลูกค้าแวะเวียนเข้ามาในร้านของ Zara ถี่ขึ้น โดยสำหรับตลาดในสเปน ค่าเฉลี่ยของลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมร้านค้าปลีกทั่วไปจะอยู่ที่ 3 ครั้งต่อปี แต่สำหรับ Zara มีลูกค้าแวะเข้ามาในร้านได้ถึง 17 ครั้งต่อปี

เบื้องหลังความสำเร็จของการออกแบบคอลเล็กชั่นสินค้าได้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด เกิดจากคำตอบแสนเรียบง่าย โดย Zara เลือกที่จะถามความต้องการของลูกค้าโดยตรง แทนที่จะคาดเดาความต้องการของลูกค้าเอง โดยปกติดีไซน์เนอร์จะคาดเดาและออกแบบเสื้อผ้าก่อน จากนั้นจึงดำเนินการผลิต จำหน่าย และตรวจสอบยอดจำหน่ายว่าเป็นอย่างไร แต่ Zara กลับมองในทิศทางกลับกัน เนื่องจาก Zara เลือกวิธีสอบถามลูกค้าโดยตรง โดยพวกเขาสอบถามลูกค้าเมื่อลูกค้าเข้ามาลองสินค้าว่า ถ้าเสื้อรุ่นนี้เปลี่ยนรูปแบบจะเป็นอย่างไร หากสินค้าที่ลองเป็นเสื้อคอวี ถ้าเปลี่ยนเป็นเสื้อคอกลมจะดูดีหรือไม่ หรือหากเปลี่ยนสีแล้วจะเป็นอย่างไร จากนั้นทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและส่งข้อมูลกลับไปยังสำนักงานใหญ่เพื่อดำเนินการผลิตต่อไป ทำให้ Zara สามารถลดความเสี่ยงในการผลิตสินค้าที่อาจไม่ตอบโจทย์ลูกค้าลงได้ และมีเวลาในการจำหน่ายสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดแทน ขณะที่ Zara มองว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การวางกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด จากนั้นจึงนำเทคโนโลยีที่เหมาะกับกลยุทธ์นั้นมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด

The Logistics and Supply Chain Behind the Success

ทั้งนี้ เบื้องหลังการขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วของ Zara คือการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบของศูนย์กลางโลจิสติกส์ของ Inditex ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์กลางโลจิสติกส์มากกว่า 10 แห่ง ศูนย์กลางโลจิสติกส์แต่ละแห่งมีการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะกับสินค้าที่พวกเขาดูแลด้วย อาทิ การเลือกใช้ระบบแสงไฟที่ประหยัดพลังงาน การติดตั้งฉนวนกันความร้อน การติดตั้งอุปกรณ์ในการควบคุมอุณหภูมิในศูนย์กลางโลจิสติกส์ การเลือกใช้จักรยานและอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการเลือกใช้พลังงานทางเลือก ซึ่งในปี 2015 เพียงปีเดียว Inditex สามารถผลิตกำลังไฟได้ถึง 47 ล้านกิโลวัตต์

ยิ่งไปกว่านั้น ในการขนส่งสินค้า Inditex ยังเลือกใช้กล่องบรรจุสินค้าที่สามารถขนส่งซ้ำได้มากถึงห้าครั้ง จากนั้นก็ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้อีก โดยกล่องบรรจุภัณฑ์ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับจำนวนสินค้าต่อกล่องและต่อรอบได้มากขึ้น มีผลให้ Inditex ลดระยะทางในการขนส่งทางบกได้ถึงสองล้านกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นระยะทางการเดินทางรอบโลกทั้งหมด 50 รอบ

นอกจากนี้ Zara ยังวางแผนขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ที่มีเยอะขึ้น ทำให้บริษัทฯ ได้วางฐานการขายสินค้าออนไลน์เช่นกัน โดยแผนการในอนาคตจะเป็นการเปิดจำนวนร้านให้น้อยลง แต่เปิดร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแทน

เราจะเห็นได้ว่า การเก็บรวบรวมข้อมูลและนำมาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดในขั้นตอนการผลิตและการดำเนินงานสามารถเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จได้ การทำงานของ Zara ถือเป็นตัวอย่างของการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ด้วยการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน มีแนวทางการดำเนินงานอย่างหลักแหลม รวบรวมข้อมูลเพื่อผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด และเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างตรงจุด ทำให้บริษัทเสื้อผ้าที่แม้ไม่ใช่แบรนด์ในระดับ high-end แต่ก็สามารถทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง และนับเป็นหนึ่งในบริษัทเสื้อผ้าที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงสุดในปัจจุบัน

Published on Logistics Manager (LM) magazine: 1st June 2019

References

• Information Systems: A Manager’s Guide to Harnessing Technology โดย John M. Gallaugher

• เว็บไซต์ https://www.inditex.com/

• บทความ ‘The Secret Journey of a Fashion Piece — Part 3: Logistics and Supply Chain’ จาก www.businessoffashion.com/

• บทความ ‘How Zara became the world’s biggest fashion retailer’ จาก www.telegraph.co.uk


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้โรงพยาบาลสนาม: ความท้าทายในการส่งความช่วยเหลือหลังเหตุภัยพิบัติ
บทความถัดไปAirBridgeCargo พาน้องหมา น้องแมวเหินฟ้าข้ามทวีปสู่บ้านหลังใหม่