DHL Express ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด่วนชั้นนำระดับโลก วางแผนขยายการปฏิบัติการในศูนย์ควบคุมการส่งออกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ ‘Asia Pacific Export Compliance Center’ (APECC) ซึ่งตั้งอยู่ในมาเลเซีย โดยจะเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการขนย้ายชิปเมนท์มากกว่า 480 ล้านครั้งต่อปีทั่วโลก ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อให้มั่นใจว่าชิปเมนท์ที่ดำเนินการผ่านเครือข่ายจะเป็นไปตามกรอบการทำงานที่สอดคล้องกับกฎหมาย และข้อกำหนดของสหประชาชาติ (UN) กฎระเบียบในยุโรป กฎระเบียบในสหรัฐอเมริกา รวมถึงกฎระเบียบระดับโลก และระดับท้องถิ่นอื่นๆ

Mr. Ken Lee ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท DHL Express Asia Pacific กล่าวว่า “เรายังคงมุ่งมั่นลงทุนใน APECC อย่างต่อเนื่องเพราะที่นี่มีบทบาทสำคัญในการยืนยันว่ามีการปรับใช้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการปฏิบัติการที่เข้มงวดตรงตามกฎระเบียบการส่งออกอย่างเคร่งครัดในการดำเนินธุรกิจ และการปฏิบัติการในทุกๆ วันของเรา”

“มีชิปเมนท์จำนวนมากกว่าหนึ่งล้านครั้งที่ขนถ่ายผ่านเครือข่ายระดับโลกของเราในทุกๆ วัน การรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการอันดับหนึ่งที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องหมั่นอัพเดข้อมูลการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบของตลาดทั้ง 40 แห่ง ในภูมิภาค เพื่อให้สามารถมอบบริการที่ดีที่สุดให้ลูกค้าของเราได้” Mr. Lee กล่าว

ศูนย์ APECC ก่อตั้งขึ้น ใน Kuala Lumpur เมื่อปี 2015 เพื่อให้มั่นใจว่าชิปเมนท์ทั่วทั้งเครือข่ายได้รับการขนส่งภายใต้ข้อกำหนดระดับสากลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งรวมถึงความเข้าใจในกฎระเบียบปัจจุบัน และมาตรการทางการค้าใหม่ๆ ทั้งจากต้นทางและปลายทางของชิปเมนท์ และช่วยให้ลูกค้าเข้าใจขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกด้วย

เจ้าหน้าที่ที่ดูแลกฎระเบียบการส่งออกที่ศูนย์ปฏิบัติการฯ ได้รับการรับรองระดับโลกโดยสมาคม International Compliance Association ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านกฎระเบียบ และมาตรการด้านอาชญากรรมทางการเงินระดับโลก นอกจากนี้ ทีมบุคลากรยังได้รับการอบรมอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการออกมาตรการทางการค้าใหม่ๆ

ด้วยปริมาณชิปเมนท์ขาออกจากเอเชียแปซิฟิกที่มีปริมาณมาก ศูนย์ APECC รับหน้าที่ในการตรวจสอบให้มั่นใจว่าชิปเมนท์ทุกชิ้นเป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนด และด้วยปริมาณชิปเมนท์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตของสินค้าอีคอมเมิร์ซ ศูนย์ APECC จึงได้นำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ โดยการเปรียบเทียบข้อมูลล่าสุดและธุรกรรมของชิปเมนท์ก่อนหน้า จากนั้นทำการแจ้งเตือนบุคลากรเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น โดยนอกจากศูนย์ APECC ในมาเลเซียแล้ว DHL Express ยังมีศูนย์ปฏิบัติการอีกสองแห่งตั้งอยู่ที่ยุโรปและอเมริกากลางด้วย

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Kerry Logistics Network ปรับใช้หุ่นยนต์ Koolbotic ช่วยทำงานในห้องเย็น
บทความถัดไปQatar Airways Cargo เข้าร่วมสมาคม Cool Chain Association