Cathay Pacific Cargo บุกเบิกหลักชัยใหม่ของ Cargo iQ ยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างคลังสินค้าและลานบินใน Hong Kong

0
617
Cathay Pacific Cargo

สายการบิน Cathay Pacific Cargo ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศกลุ่มแรกที่ประสบความสำเร็จในการปรับใช้แนวทางการปฏิบัติการใหม่ภายใต้แผนการปฏิบัติการหลัก หรือ Master Operating Plan (MOP) ของ Cargo iQ

โดยแนวทางการปฏิบัติการใหม่ดังกล่าวประกอบด้วย แนวทางการควบคุมสินค้าขาออกจากคลังสินค้า (FOW) และแนวทางการควบคุมสินค้าขาเข้าสู่คลังสินค้า (FIW) ซึ่งจะช่วยยกระดับความโปร่งใสในระหว่างกระบวนการขนส่งสินค้าทางอากาศภายใต้ MOP รวมถึงสามารถวัดประสิทธิภาพปฏิบัติการยกขนสินค้าภาคพื้นระหว่างผู้ปฏิบัติการข้างเครื่องในเขตลานบินและอาคารคลังสินค้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งปฏิบัติการสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออกได้ละเอียดจนถึงระดับใบตราส่งสินค้าทางอากาศ (AWB) โดยสายการบินฯ​ มีการปรับใช้แนวทาง FOW และ FIW ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการ Cathay Pacific Cargo Terminal ใน Hong Kong พร้อมตั้งเป้าขยายผลครอบคลุมทั่วทั้งเครือข่ายการปฏิบัติการ

ทั้งนี้ Cargo iQ เป็นคณะทำงานไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนโดยสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) มีสมาชิกประกอบด้วยสายการบินรายใหญ่ บริษัทตัวแทนผู้รับจัดการสินค้า ตัวแทนยกขนสินค้าภาคพื้น บริษัทรถบรรทุก และผู้ให้บริการด้านไอที ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อสร้างมาตรฐานและนำความโปร่งใสมาสู่กระบวนการขนส่งสินค้าทางอากาศ

โดย MOP เป็นแนวทางปฏิบัติการที่ IATA ให้การสนับสนุนในฐานะแนวทางการปฏิบัติสำหรับอุตสาหกรรมฯ ซึ่งจะอธิบายถึงกระบวนการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางจากผู้ส่งสินค้าไปจนถึงผู้รับสินค้า

Cathay Pacific ให้การสนับสนุนคณะทำงาน Cargo iQ มาตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในฐานะ Cargo 2000 เมื่อ 25 ปีก่อน โดยปัจจุบัน Mr. Frosti Lau ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายการส่งมอบบริการสินค้าประจำ Cathay Pacific มีบทบาทเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ Cargo iQ และผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางใหม่นี้ ได้กล่าวว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นองค์กรแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จในการบรรลุหลักชัยใหม่ทั้งสองแนวทางดังกล่าว เนื่องจากเรามีความมุ่งมั่นในการยกระดับการควบคุมคุณภาพของกระบวนการยกขนสินค้าโดยร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง”

ทั้งนี้ การปรับใช้แนวทาง FOW และ FIW สามารถช่วยลดภาระในการคำนวณระยะเวลาที่ใช้ในการถ่ายโอนตู้เก็บสินค้า ULD ระหว่างฝั่งลานบินและคลังสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ปฏิบัติการต้องดึงข้อมูลออกจากระบบและทำการคำนวณด้วยตัวเอง โดยปัจจุบันระบบสามารถแชร์ข้อมูลได้โดยมีความละเอียดถึงระดับใบตราส่งสินค้า


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Emirates SkyCargo จับมือ United Cargo ประกาศข้อตกลงครั้งสำคัญ
บทความถัดไปBoeing และ ANA HOLDINGS ยืนยันคำสั่งซื้อ Boeing 737 MAX และ 777-8F