การขนส่งสินค้าทางอากาศนั้นเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการที่มีความสามารถ รวมทั้งมีความเข้าใจธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอย่างดี สำหรับในประเทศไทย Bangkok Flight Services หรือ BFS เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการภาคพื้นชั้นแนวหน้า ที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด

BFS ก่อตั้งจากความร่วมมือของบริษัท เวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัดและบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ปัจจุบัน BFS ให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อันประกอบด้วยการบริการฝ่ายการโดยสาร ฝ่ายบริการภาคพื้นและลานจอด และฝ่ายบริการคลังสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก โดยมีจำนวนสายการบินลูกค้ามากกว่า 70 สายการบินทั่วโลก

สำหรับบริการด้านคลังสินค้าส่งออกนั้น BFS จะทำหน้าที่รับสินค้าจากลูกค้าของสายการบินและบริษัทตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้า ก่อนจะทำการลำเลียงและขนถ่ายสินค้าขึ้นอากาศยานเมื่อถึงกำหนดเวลาออก

นิตยสาร AFL ฉบับนี้ มีโอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับการบริการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าผู้ส่งออกของ BFS รวมทั้งการพัฒนาใหม่ๆ ภายในแผนกสินค้าส่งออกของ BFS โดยมี คุณนิวัฒน์ แสงเสน่ห์ และ คุณสุวรรณวุฒิ จำนงค์ศาสตร์ ผู้จัดการคลังสินค้า มาร่วมเผยถึงแนวทางการพัฒนาการในอนาคตเพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าของ BFS ให้ดียิ่งขึ้น

Export Delivery Slot Time

ช่วงเวลาตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป เป็นช่วงที่คลังสินค้าของ BFS จะคลาคล่ำไปด้วยรถบรรทุกหรือแม้แต่รถหัวลากจำนวนนับไม่ถ้วน เข้าแถวรอคิวบริเวณหน้าคลังสินค้าก็จะมีความแออัดเป็นพิเศษ และผู้ส่งสินค้าแต่ละรายจะต้องรอคิวเพื่อส่งมอบสินค้าให้กับ BFS ซึ่งจะให้บริการในแบบ ‘First-come, First served’ ทำให้เกิดการแออัด ล่าช้า สิ้นเปลืองทั้งเวลา ทรัพยากรรถบรรทุก และต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ลูกค้าและผู้ขนส่ง

คุณนิวัฒน์ แสงเสน่ห์ ผู้จัดการคลังสินค้า

ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว BFS จึงพัฒนาระบบจองช่วงเวลานำส่งสินค้า หรือเรียกอีอย่างว่า ‘Export Delivery Slot Time’ เพื่อให้การนำสินค้าเข้าคลังสินค้าส่งออกมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

คุณนิวัฒน์ อธิบายถึงระบบ Export Delivery Slot Time โดยกล่าวว่า “ระบบดังกล่าวนี้ ทาง BFS พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนผู้ประกอบการ ขนส่งสินค้าในการจองประตูขนสินค้าขาออก ล่วงหน้า กล่าวคือ โดยปกติแล้วเมื่อตัวแทนขนส่งสินค้าเดินทางมาถึงคลังสินค้า ทาง BFS จะทำการจัดคิวการส่งสินค้าตามลำดับก่อนหลัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตัวแทนขนส่งสินค้ามักจะเข้ามาส่งสินค้าพร้อมๆ กันช่วงบ่ายไปจนถึงช่วงค่ำของวัน ทำให้เกิดความแออัดบริเวณหน้าคลังสินค้าและมีความล่าช้าเกิดขึ้น”

“ด้วยระบบ Export Delivery Slot Time นี้ ตัวแทนขนส่งสินค้าสามารถจองช่วงเวลาสำหรับส่งสินค้า โดยแจ้งข้อมูลสินค้าและอีเมลติดต่อผ่านช่องทางหน้าเว็บไซต์ของ BFS จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ของ BFS จะทำการจองช่วงเวลาและจัดช่องลงสินค้าที่เหมาะสมให้กับรถบรรทุกของตัวแทนขนส่งสินค้า รวมทั้งเตรียมพนักงานในการรับสินค้า และตอบกลับอีเมลเพื่อยืนยัน เมื่อตัวแทนขนส่งสินค้ามาถึง พร้อมกับเอกสารที่จำเป็นโดยครบถ้วน ก็สามารถเข้าส่งสินค้าให้กับคลังได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคิว”

“เราพยายามเชิญชวนและผลักดันให้ตัวแทนขนส่งสินค้าใช้งานระบบ Export Delivery Slot Time เพราะปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการคลังสินค้าของ BFS จำนวนมาก อีกทั้งยังมีตัวแทนขนส่งสินค้าที่ลากตู้คอนเทนเนอร์จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเข้ามาใช้บริการของเราด้วย หากทางเราสามารถทราบเวลาและจำนวนของสินค้าที่ทางตัวแทนฯ ต้องการส่ง ก็จะสามารถจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้เหมาะสมกับผู้ใช้บริการได้ ซึ่งนั่นไม่เพียงช่วยให้การทำงานของเราคล่องตัวขึ้นเท่านั้น แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่กับลูกค้าและผู้ใช้บริการของเราเป็นสำคัญ” คุณสุวรรณวุฒิ กล่าวเสริม

Latest Scanning Technology

ขั้นตอนการทำงานตามปกติของแผนกสินค้าส่งออกของ BFS นั้น เริ่มต้นที่การตรวจรับสินค้าทั่วไปและสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่ผู้ส่งสินค้านำมาส่ง ตรวจเอกสารขาออก (AWB) จากนั้นก็จะนำสินค้าไปชั่งน้ำหนักและวัดปริมาตร แล้วจึงนำสินค้าไปพักในคลังสินค้า และเมื่อพร้อมก็จะจัดระวางบรรทุกตามแผนการโหลด (Load Plan) และขนถ่ายสินค้าขึ้นบนอากาศยาน

นอกจากระบบ Export Delivery Slot Time ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งสินค้าแล้ว BFS ยังติดตั้งเครื่องสแกนสินค้าระบบแสงเลเซอร์ (Automatic Volume Scanner) จำนวน 4 เครื่องที่บริเวณจุดรับสินค้าขาออก ซึ่งถือเป็นจุดคอขวดจุดหนึ่งในกระบวนการปฏิบัติการของแผนกฯ เพื่อกระชับกระบวนการทำงานและเพิ่มความแม่นยำให้กับการวัดปริมาตรสินค้า

คุณสุวรรณวุฒิ กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เมื่อสินค้าขาออกมาถึงคลังสินค้า พนักงานของเราจะทำการวัดขนาดและคำนวนปริมาตรของสินค้าด้วยมือ ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะในตอนที่มีสินค้าจำนวนมากหรือมีสินค้าขนาดใหญ่ และต้องใช้บุคลากรจำนวนมากในการจัดการ รวมถึงอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการวัดขนาด (Human Error) ขึ้นได้”

“แต่ปัจจุบันระบบสแกนสินค้าใหม่ของเราสามารถวัดขนาดและคำนวนปริมาตรรวมของสินค้าได้โดยอัตโนมัติ ด้วยระบบสแกนเลเซอร์ โดยเครื่องสแกนสามารถบอกข้อมูลสามมิติของสินค้าซึ่งประกอบด้วย ความกว้าง ความยาว ความสูง และน้ำหนักของสินค้า ซึ่งจะทำให้กระบวนการรับสินค้ามีความรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้เครื่องแสกนดังกล่าวยังแสดงผลตัวเลขปริมาตรสินค้าได้ตามจริง พร้อมแสดงผลใน e-weight slip และ เอกสารการชั่งสินค้า (weight slip) ได้อีกด้วย”

คุณสุวรรณวุฒิ จำนงค์ศาสตร์ ผู้จัดการคลังสินค้า

การติดตั้งระบบสแกนสินค้าใหม่นี้ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงานได้ถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับการวัดขนาดสินค้าด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ BFS นำเข้ามาเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รวดเร็วและเปี่ยมประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Moving Towards the Future

ด้วยปริมาณสินค้าที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด BFS จึงมีการลงทุนพัฒนาระบบพื้นฐานภายในคลังสินค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้างชั้นวางจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่ชั้นจัดเก็บ ETV Location จาก 3 ชั้นเป็น 4 ชั้น เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าและลูกค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ทางทีมงานฝ่าย IT ของ BFS ยังได้พัฒนาซอฟต์แวร์จัดการคลังสินค้า E-ICS(Export Inventory Control System) และ  ETV-ICS (ETV- Inventory Control System) ขึ้นเป็นการภายใน เพื่อให้การจัดการภายในคลังสินค้า รวมถึงกระบวนการจัดระวางบรรทุกสินค้ามีความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้องมากขึ้น

อีกหนึ่งระบบที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาติดตั้ง นั่นก็คือ ระบบ เคลื่อนย้าย ULD  อัตโนมัติ ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมล่าสุดในคลังสินค้าขาออกของ BFS ซึ่งคุณสุวรรณวุฒิกล่าวถึงระบบดังกล่าวว่า “โดยปกติแล้วเมื่อทีมงานของเราจัดระวางบรรทุกสินค้าตามแผนการโหลด (Load Plan) สินค้าเสร็จแล้ว เราจะลำเลียง ULD ดังกล่าวไปยังพื้นที่จัดเก็บที่เตรียมไว้ด้วยระบบเคลื่อนย้าย ULD ซึ่งในตอนนี้ยังต้องอาศัยคนควบคุมในทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากรแรงงาน เราจึงพัฒนาระบบเคลื่อนย้าย ULD อัตโนมัติขึ้นมา เพื่อลดความยุ่งยากของขั้นตอนดังกล่าว โดยระบบใหม่นี้จะทำการลำเลียง ULD ไปรอการจัดเก็บบนชั้นวาง ETV Location โดยอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากเพิ่มความรวดเร็วให้กับกระบวนการทำงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับสินค้าอีกด้วย เพราะระบบคอมพิวเตอร์จะคอยควบคุมไม่ให้เกิดการกระทบกระแทกกันของ ULD ที่ลำเลียงอยู่บนลางเลื่อน ในขณะที่การควบคุมด้วยคนยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้”

ในยุคที่ E-Commerce นำพาให้อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง การจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ BFS ก็มีการปรับปรุงและลงทุนเพื่อพัฒนาระบบพื้นฐานเพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา สมกับสถานะความเป็นหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมผู้ให้บริการรับจัดการสินค้าภาคพื้นชั้นนำของไทยอย่างเต็มภาคภูมิ

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ไปรษณีย์ไทย เผยช่วงสิ้นปีมีการส่งจักรยานยนต์กลับบ้านจำนวนมาก
บทความถัดไปEtihad Cargo ควบใบรับรอง CEIV Fresh และ CEIV Pharma จาก IATA
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way