CLIVE ชี้ข้อมูลอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศ เดือน ส.ค. อาจส่งสัญญาณที่ดีกว่าคาดการณ์

0
435

CLIVE Data Services บริษัทผู้วิเคราะห์และให้บริการข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ และส่วนหนึ่งของ Xeneta เปิดเผยในรายงานการวิเคราะห์สภาพอุตสาหกรรมฯ รายสัปดาห์ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าข้อมูลผลการดำเนินงานของตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกประจำเดือนสิงหาคมเผยให้เห็นแนวโน้มที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณสินค้าขนส่งในตลาดสำหรับช่วงพีคที่กำลังจะมาถึง ซึ่งพิจารณาจากการชะลอตัวในการลดลงของอัตราความต้องการขนส่งสินค้า และอัตราค่าบริการขนส่งสินค้าทางอากาศในเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและอเมริกาเหนือที่เริ่มเข้าสู่เสถียรภาพที่ดี

ทั้งนี้ หลังจากที่ปริมาณความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศปรับลงลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ -8 เปอร์เซ็นต์ และ -9 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ปี 2022 การปรับลดลงดังกล่าวได้เริ่มชะลอตัวลงมาอยู่ที่ -5 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกันภาวะความผันผวนของอุตสาหกรรมฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรปฏิบัติงานทั้งในท่าอากาศยานและสายการบิน ซึ่งส่งผลให้การฟื้นตัวของพื้นที่ระวางการขนส่งสินค้าในเดือนสิงหาคมเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของการเดินทางช่วงฤดูร้อนในแถบซีกโลกเหนือ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของช่วงก่อนวิกฤตโรคระบาดในปี 2019 ระวางการบริการขนส่งสินค้าจะหดตัวลง 9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่อัตรา ‘Dynamic Load Factor’ของ CLIVE ยังคงสะท้อนภาพอุตสาหกรรมฯ ที่ใกล้เคียงกับช่วงสามเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 58 เปอร์เซ็นต์

อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศแบบทันทีเฉลี่ยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 3.61 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 ทั้งนี้ยังคงสูงกว่าในเดือนสิงหาคม 2021 ที่ +4 เปอร์เซ็นต์ และ +113 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับในปี 2019 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับอัตรา +156 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงต้นปี 2022 ก็เป็นการตอกย้ำถึงการชะลอตัวของอัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศแบบช้าๆ และต่อเนื่องเพื่อกลับคืนสู่ระดับที่เคยเป็นเมื่อสามปีก่อน

อย่างไรก็ตาม Mr. Niall van de Wouw ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการขนส่งสินค้าทางอากาศ บริษัท Xeneta ชี้ว่าข้อมูลของตลาดในเดือนสิงหาคมอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงการปรับเพิ่มขึ้นสำหรับทั้งปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าและอัตราค่าบริการขนส่งสินค้าทางอากาศอีกรอบก็เป็นได้ ซึ่งในขณะที่คาดการณ์ช่วงพีคประจำไตรมาสที่สี่ของปียังคงชะลอตัว แต่สัญญาณการฟื้นตัวในเดือนสิงหาคมดังกล่าวอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่กระตุ้นให้สถานการณ์ดีกว่าที่มีคาดการณ์เอาไว้

“ในขณะที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน เราพบว่าปริมาณสินค้าในเส้นทางการค้า Transatlantic มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้สายการบินต่างๆ ปรับลดตารางการบินช่วงฤดูหนาวลง  และคาดว่าพื้นที่ระวางในเส้นทางการค้าที่ได้รับความนิยมอย่างเส้นทางขาออกจากเอเชียไปยังยุโรปและอเมริกาเหนือ และจากยุโรปไปยังอเมริกาเหนือจะเริ่มถูกจำกัด อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณของเดือนสิงหาคม หากสถานการณ์ความต้องการขนส่งสินค้าที่ชะลอตัวลดลงปรับดีขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ภาคอุตสาหกรรมฯ จะกลับสู่สถานการณ์ที่ตลาดเป็นของผู้ขายอีกครั้งถ้าอัตราโหลดแฟกเตอร์ปรับเพิ่มขึ้นถึงช่วงระดับกลางระหว่าง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าปริมาณสินค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนจนสูงกว่าในเดือนสิงหาคม” Mr. van de Wouw กล่าว

ทั้งนี้ Dynamic Load Factor เป็นอัตราโหลดแฟกเตอร์ (สัดส่วนปริมาณสินค้าต่อพื้นที่ระวางสินค้า) ที่พัฒนาสูตรการคำนวณโดย CLIVE ในการนำทั้งปริมาตรและน้ำหนักของสินค้ามาใช้ในการคำนวณ โดยพิจารณาร่วมกับอัตราการหมุนเวียนของสินค้าและพื้นที่ระวางสินค้า


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Yusen Logistics เปิดคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิแห่งใหม่ใกล้ Narita
บทความถัดไปHactl ปิดดีลซื้อหนังสือรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน
Thanathas Akkhachotkawanich
Bangkok grew, Australian aged, Silicon Valley matured, this aspiring writer adds flavor to our team with his aspiring smile and quill-tip talents.