สายการบินทั่วโลก ปรับตัวฝ่าวิกฤต COVID-19 ด้วยกลยุทธ์ขนส่งสินค้าผ่านอากาศยานโดยสาร

0
7517

‘การปรับตัว’ คือกลยุทธ์สำคัญ เมื่อความเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายที่ไม่คาดหมาย ย่างกรายเข้ามาเยือน และภายใต้สภาวะอันผกผัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ธุรกิจมากมายในทุกอุตสาหกรรม ต่างก็สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับส่งความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์ผู้ได้รับผลกระทบในเวลาเดียวกัน

ธุรกิจสายการบิน ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องปรับตัว  ด้วยการดัดแปลงอากาศยานโดยสารมาใช้ในปฏิบัติการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับความต้องการในบริการขนส่งสินค้าที่เพิ่มปริมาณขึ้นเป็นเท่าทวี พร้อมกับช่วยขับเคลื่อนซัพพลายเชนให้เดินหน้าต่อไป และเพื่อหยิบยื่นความช่วยเหลือ ผ่านปฏิบัติการส่งมอบสินค้าจำเป็นให้แก่บุคลากรด่านหน้า และผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างปลอดภัย      

Adapting Is the Key

การท่าอากาศยาน Greater Toronto (GTAA) เผยว่า ก่อนที่โลกจะเผชิญกับวิกฤต COVID-19 นั้น สินค้าส่วนใหญ่ เดินทางถึงมือผู้รับโดยการบรรจุในห้องเก็บสัมภาระใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร ทว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศได้วางมาตรการปิดประเทศ เพื่อบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

จึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติการเที่ยวบินโดยสารได้ พื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร ซึ่งเคยใช้บรรทุกสินค้าในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศจึงหดหายไป ส่งผลกระทบต่อระวางการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่ลดลงไปอย่างมากถึง 42 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผลกระทบที่ตามมาคือ ค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศที่ดีดตัวขึ้นสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ค่าระวางสินค้าจากเซี่ยงไฮ้ไปยังภูมิภาคยุโรปต่อหนึ่งกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก 2.32 เหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็น 11.18 เหรียญสหรัฐ

ภายใต้สภาวการณ์ที่ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางโดยอากาศยานได้ สายการบินหลายแห่ง จึงหันมาใช้กลยุทธ์ดัดแปลงอากาศยานโดยสาร ให้กลายเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าชั่วคราว เพื่อพยุงกิจการ พร้อมขับเคลื่อนกระแสการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ ซึ่งเป็นดั่งเชือกเส้นใหญ่ที่โยงใยธุรกิจทั่วโลกเข้าด้วยกัน

From Passenger Planes to Cargo Carriers

ณ ใจกลางเมือง Montreal และ Quebec สายการบินแห่งชาติของประเทศแคนาดาอย่าง Air Canada ซึ่งปลดระวางฝูงเครื่องบินขนส่งสินค้าของตัวเองมานานกว่า 25 ปี ได้กลับสู่ปฏิบัติการขนส่งสินค้าอีกครั้ง โดยสายการบินฯ ได้ทำการปลดที่นั่งโดยสารออกจากเครื่อง Boeing 777 300ER จำนวนสี่ลำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ระวางในการขนส่งสินค้าจำเป็น อาทิ หน้ากาก ชุดกาวน์ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จากนครเซี่ยงไฮ้สู่ประเทศแคนาดา

อีกทั้ง Air Canada ยังวางแผนที่จะดัดแปลงเครื่อง Airbus A330 จำนวนสี่ลำเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า เพื่อรองรับความต้องการในเส้นทางสู่ทวีปยุโรปและอเมริกาใต้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน สายการบินสัญชาติอเมริกันอย่าง American Airlines และสายการบินประจำชาติของฟินแลนด์อย่าง Finnair ต่างก็เร่งดัดแปลงฝูงเครื่องบินโดยสารของตนสำหรับปฏิบัติการขนส่งสินค้า เพื่อตอบรับความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในการส่งมอบสินค้าจำเป็นเพื่อต่อต้านการแพร่ระบาดของ COVID-19

อีกด้านหนึ่ง สายการบิน Emirates ยังคงปฏิบัติการลำเลียงอาหารสู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้พื้นที่ระวางสินค้าบนเครื่องบินขนส่งสินค้า และเครื่องบินโดยสาร Boeing 777-300ER ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านมา สายการบินฯ ได้นำเข้าอาหารให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้วมากกว่า 34,000 ตัน

พร้อมกันนั้น Virgin Atlantic สายการบินเอกชนสัญชาติอังกฤษ ก็ตบเท้าเข้าร่วมภารกิจต้านภัยโรคระบาด และจัดส่งอุปกรณ์ PPE กว่า 43 ล้านชุด ไปยังสหราชอาณาจักร ผ่านเที่ยวบินขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ ซึ่งเช่าเหมาลำโดยกรมอนามัยและสังคมและหน่วยงานระบบสุขภาพ (NHS) ของอังกฤษ ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนนี้

โดย Virgin Atlantic เป็นสายการบินจากสหราชอาณาจักรรายแรก ที่กลับมาปฏิบัติการเที่ยวบินสู่ประเทศจีนอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากการประกาศปิดประเทศและห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจีนในช่วงปลายเดือนมีนาคม โดยสายการบินฯ ได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากกรมการบินพลเรือนอังกฤษ และการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษประจำประเทศจีน

ขณะที่ สายการบิน SWISS เตรียมดัดแปลงถอดที่นั่งชั้นประหยัดออกจากเครื่องบิน Boeing 777-300ER จำนวนสามลำ เพื่อสนับสนุนบริการขนส่งสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง สายการบิน Cebu Pacific (CE​B) จากฟิลิปปินส์ ก็ปฏิบัติการเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบอาหาร ยาปฏิชีวนะ และสินค้าจำเป็น แก่หมู่เกาะทั่วประเทศฟิลิปปินส์ โดยสายการบินฯ ได้ร่วมงานกับหน่วยประสานงานเฉพาะกิจ (IATF) และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรด้านมนุษยธรรม ในกระบวนการขนส่งสินค้า ด้วยฝูงเครื่องบิน Airbus และ ATR 72

The Conversion  

ในการปรับตัวให้สอดรับกับสภาวะฉุกเฉินจากโรคระบาดที่สร้างผลกระทบในระดับโลกครั้งนี้ สายการบินต่างๆ มีกรรมวิธีการหลักทั้งหมดสามรูปแบบ เพื่อเปลี่ยนฝูงเครื่องบินโดยสารให้กลายสภาพเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า โดยประกอบด้วย หนึ่ง ใช้เครื่องบินโดยสารขนส่งสินค้าโดยวางสินค้าบนที่นั่งโดยสารและใช้ตาข่ายยึดคลุมสินค้าให้อยู่กับที่ สอง ดัดแปลงเครื่องบินโดยสารสำหรับปฏิบัติการขนส่งสินค้าชั่วคราว โดยถอดที่นั่งโดยสารออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ระวางสินค้า และสาม ดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าอย่างถาวร

โดยส่วนใหญ่แล้ว เครื่องบินที่ถูกดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าอย่างถาวร จะเป็นเครื่องบินที่ถูกใช้งานมาประมาณครึ่งหนึ่งของอายุการใช้งานทั้งหมด โดยที่นั่งโดยสารทุกชั้น ที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ พื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ต้อนรับบนเครื่องบิน และพื้นที่จัดเตรียมอาหาร จะถูกถอดออกทั้งหมด

พร้อมกันนั้น ประตูเครื่องบินก็จะถูกปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเปิดรับสินค้า และนำพื้นกั้นระหว่างห้องโดยสารและใต้ท้องเครื่องออก ก่อนที่ท้องเครื่องจะได้รับการเสริมความแข็งแรง ส่วนหน้าต่างทั้งหมดก็จะถูกปิดผนึก พร้อมกับมีการติดตั้งระบบปฏิบัติการสินค้า และอุปกรณ์ดับเพลิง เมื่อกระบวนการดัดแปลงสิ้นสุด เครื่องบินดังกล่าว จะสามารถให้บริการขนส่งสินค้าต่อไปได้อีกมากกว่า 15 ปี

โดยผู้ผลิตอากาศยานอย่าง Boeing, Airbus หรือผู้ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานต่างๆ สามารถมอบบริการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเพื่อรองรับปฏิบัติการขนส่งสินค้า ตัวอย่างเช่น Lufthansa Technik ผู้ให้บริการซ่อมแซม ปรับปรุง และบำรุงรักษาเครื่องบินในเครือ Lufthansa Group ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมการบินเยอรมนี ในการดัดแปลงเครื่องบินโดยสาร Airbus A330-300 ของ Lufthansa จำนวนสี่ลำ เพื่อใช้ในการบรรทุกสินค้า พร้อมกันนั้น Lufthansa Technik ยังพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต Supplemental Type Certificates (STC) สำหรับดำเนินการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารรุ่นต่างๆ ที่นิยมใช้งานในอุตสาหกรรม ให้สามารถนำมาใช้ในการบรรทุกสินค้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในบริการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ การดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเพื่อการบรรทุกสินค้านั้น จะต้องมีการเตรียมเอกสารทางเทคนิคที่ครอบคลุม เนื่องจากเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้านั้นมีข้อกำหนดสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น ห้องโดยสารของเครื่องบินโดยสารต้องมีปริมาณออกซิเจนอย่างเพียงพอ ขณะที่เครื่องบินขนส่งสินค้าต้องผ่านมาตรการป้องกันอัคคีภัยที่เข้มงวด รวมถึงอัตรารับน้ำหนักของพื้นเครื่องบินที่ไม่เท่ากัน ทำให้ต้องมีการศึกษาและผ่านการตรวจสอบจากวิศวกรที่ได้รับการรับรอง เพื่อจัดเตรียมเอกสารทางเทคนิค ก่อนที่จะสามารถดำเนินการได้

อนึ่ง การดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าอย่างถาวรนั้น มีต้นทุนที่สูง โดยเครื่อง Boeing 737-400 มีต้นทุนในการดัดแปลงถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 94 ล้านบาท ขณะที่เครื่องบินโดยสารลำตัวกว้างอย่าง Boeing 767 มีต้นทุนในการดัดแปลงกว่า 14 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 440 ล้านบาท

ดังนั้น สายการบินต่างๆ จึงเลือกที่จะทำการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเพื่อการบรรทุกสินค้าชั่วคราว ซึ่งสมเหตุสมผลต่อปฏิบัติการเฉพาะกิจที่มีทิศทางดำเนินไปในระยะสั้น และมีราคาต้นทุนที่ประหยัดกว่า 

อีกทั้ง สินค้าจำเป็นที่ขนส่งภายใต้ภาวะวิกฤต มักเป็นสินค้าน้ำหนักเบา เช่น หน้ากากหรือ PPE โครงสร้างของเครื่องบินจึงไม่จำเป็นต้องได้รับการดัดแปลงมาก เนื่องจากพื้นที่ระวางสินค้าจะเต็มพิกัดบรรทุก ก่อนที่จะถึงพิกัดน้ำหนักสูงสุด อีกทั้งการดัดแปลงถาวรก็ต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์

Harmonizing Through the Crisis

ภายใต้สภาวะที่สายการบินทั่วโลกต้องปรับตัวเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติการภาคพื้น เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ไปจนถึงสำนักการบินพลเรือนผู้วางมาตรการและข้อกำหนดการบิน ต่างก็ต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันปฏิบัติการขนส่งโดยเครื่องบินดัดแปลงดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากประตูเครื่องบินโดยสาร ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับคน หาใช่สินค้า หน่วยงานทุกฝ่ายจึงต้องมีการหารือ เพื่อกำหนดแนวทางการลำเลียงสินค้าขึ้นและลงจากเครื่องบินอย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานอย่างสอดประสานจากหน่วยงานทุกฝ่าย และองค์กรต่างๆ

การปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดรับกับความต้องการบริการขนส่งสินค้าภายใต้วิกฤตเช่นนี้ สะท้อนถึงความมุมานะและแรงใจของบุคลากรในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ที่พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือ รวมทั้งพร้อมที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจทั่วโลกขับเคลื่อนผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน


แหล่งที่มา:

https://www.theglobeandmail.com/canada/article-from-passengers-to-cargo-how-airlines-are-overhauling-their-business/

https://www.lufthansa-technik.com/pax-to-cargo

https://www.journal-aviation.com/en/news/44238-social-distancing-haeco-cabin-solutions-launches-four-stowage-solutions-to-combine-freight-and-passengers-in-aircraft-main-cabin

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Airfreight Logistics เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Airfreight Logistics หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Rhenus Logistics เปิดคลังสินค้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ในอินเดีย
บทความถัดไปUPS Healthcare สนับสนุน Dr. Reddy’s Laboratories ส่งด่วนเภสัชภัณฑ์อ่อนไหวต่ออุณหภูมิ